นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือรายนี้เป็นการตั้งสมมติฐาน เพื่อนำไปสู่การทำวิจัยของนักวิจัยรายหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้การวางแผนการทำวิจัย ยังไม่ถูกต้อง เพราะมีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยน้อย และเป็นการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว ไม่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่น่ากังวลที่สุดคือ ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) รุนแรงขึ้น
ขณะที่ ดร.แพทย์หญิงเริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่าจากการเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีการปรึกษาหารือในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารนิโคติน กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นงานวิจัยของประเทศฝรั่งเศสมาหารือ ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า เป็นงานวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ มีอคติในระเบียบวิจัยการเลือกสุ่มตัวอย่าง เพราะเลือกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่อายุน้อย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำอยู่แล้ว และรู้จักการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิค-19 ที่ดีกว่าปกติ ซึ่งเท่ากับเป็นการตั้งธงหรือชี้นำผลวิจัยไปในทางใดทางหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการวิจัย
กรมควบคุมโรค จึงขอประชาชนอย่าหลงเชื่อการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยที่พยายามเชื่อมโยงว่าการสูบบุหรี่ช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย