ความแตกต่างของกีฬามวยปล้ำ ผ่านการเป็นกีฬาแบบสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ ทำให้มวยปล้ำสามารถใส่เรื่องราว การรับบทบาทของนักมวยปล้ำ ทั้งพระเอกและผู้ร้ายเพื่อต่อสู้กัน จนกลายเป็นเสน่ห์ของวงการมวยปล้ำมายาวนานหลายสิบปี
แต่การเลือกบทบาทธรรมะ หรืออธรรมให้กับนักมวยปล้ำสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเลือกผิดพลาด ชีวิตของนักมวยปล้ำอาจล้มเหลวในวงการไปตลอดการ ในทางกลับกันหากเลือกได้ถูกต้อง นักมวยปล้ำคนนั้นสามารถกลายเป็นตำนาน ที่คนรู้จักไปทั่วโลก สร้างรายได้มหาศาล กลับมาให้สมาคม
เพื่อป้องกันความผิดพลาด ในการผลักดันนักมวยปล้ำให้ได้มากที่สุด วงการมวยปล้ำจึงต้องสร้างวิธีคิด กับการแบ่งนักมวยปล้ำระหว่างธรรมะกับอธรรม ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับสมาคมมากที่สุด
ใช้บุคลากรให้เหมาะสม
การแบ่งแยกบทบาทธรรมะ-อธรรม ในวงการมวยปล้ำอาชีพ ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม กระทั่งช่วงยุค 70’s วงการมวยปล้ำ ปรับตัวเองให้เป็นความบันเทิงมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เข้ามามีอารมณ์ร่วม กับการต่อสู้มวยปล้ำบนสังเวียน
วงการมวยปล้ำ เริ่มต้นสร้างนักมวยปล้ำ ขึ้นมาสองรูปแบบ หนึ่งคือนักมวยปล้ำที่ปล้ำตามกฎกติกา ให้ความเคารพคนดูและกรรมการ คือฝ่ายธรรมะ
ขณะที่อีกฝ่าย คือนักมวยปล้ำที่ไม่เคารพกติกา และมารยาท พร้อมทำทุกวิถีทาง ที่จะทำตัวเองให้ได้รับชัยชนะ นั่นคือนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม
เหตุผลสำคัญที่ต้องแบ่งนักมวยปล้ำออกเป็นสองฝ่าย เพราะสมาคมมวยปล้ำ ต้องการสร้างนักมวยปล้ำที่สามารถเป็นขวัญใจของคนดูได้ เป็นนักมวยปล้ำที่แฟนมวยปล้ำเอาใจช่วย เพื่อเป็นตัวชูโรง เรียกคนดูเข้ามาซื้อตั๋วการแข่งขัน ซึ่งนักมวยปล้ำที่ถูกรับเลือก ให้เข้ามาตำแหน่งนี้ จะถูกจับไปอยู่เป็นฝั่งธรรมะ
นักมวยปล้ำที่สมาคมเลือกให้เป็นฝ่ายธรรมะ ส่วนใหญ่จะมีรูปร่าง หน้าตาดี หรือภาพลักษณ์ที่เข้ากับคาแรคเตอร์ ที่เป็นฮีโร่ เป็นนักสู้ รวมไปถึงเป็นนักมวยปล้ำที่มีความสามารถดี มีแนวโน้มสามารถเรียกเสียงเชียร์จากผู้ชมได้
ตัวอย่างของนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะที่ดี คือ ฮองค์ โฮแกน (Hulk Hogan) ยอดนักมวยปล้ำชื่อดังในยุค 80’s ... แม้เขาจะไม่ใช่นักมวยปล้ำที่มีรูปร่างหล่อบาดใจ แต่เขาก็เป็นนักมวยปล้ำทรงเสน่ห์ เปี่ยมไปด้วยพลังงานด้านบวกยามปรากฎตัวหน้าฉาก อีกทั้งเก่งกาจในการเรียกเสียงเชียร์จากคนดู
ฮองค์ โฮแกน ถูกเลือกให้ไปรับบทบาทเป็นฝ่ายธรรมะ กับคาแรคเตอร์ ฮีโร่ของคนอเมริกัน (American’s Hero) ที่ไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้ เพื่อโยงกับกระแสของสงครามเย็น ... ด้วยคาแรคเตอร์ที่ดี บวกกับความสามารถ ที่เหมาะกับบทบาทการเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ ทำให้ ฮองค์ โฮแกน สร้างยุคทองให้กับวงการมวยปล้ำ ที่เติบโตและพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากโฮแกนแล้ว นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะแถวหน้า อย่าง อัลติเมท วอร์ริเออร์ (Ultimate Warrior), แรนดี ซาเวจ (Randy Savage), ดัสตี โรดส์ (Dusty Rhodes) หรือ สติง (Sting) คือนักมวยปล้ำที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน นั่นคือเต็มไปด้วยพลังงานด้านบวก และทรงเสน่ห์ ทำให้พวกเขา เรียกเสียงเชียร์จากคนดูได้ไม่ยาก
ขณะที่นักมวยปล้ำฝั่งอธรรม มักจะถูกเลือกจากนักมวยปล้ำ ที่มีรูปร่าง หน้าตา ดูน่ากลัว เป็นนักมวยปล้ำตัวใหญ่ ที่เน้นท่าแบบจับทุ่ม จับฟาดรุนแรง รวมไปถึงนักมวยปล้ำที่พูดออกไมโครโฟนได้เก่ง หลายคนได้รับบทบาท ให้เป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องง่าย ที่นักมวยปล้ำเหล่านี้ จะพูดสร้างความเกลียดชังให้กับคนดู
กระนั้น นักมวยปล้ำที่เป็นแบบอย่างของฝ่ายอธรรม อย่าง ริค แฟลร์ (Ric Flair) กลับมีลักษณะตรงข้าม กับภาพในอุดมคติของนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม ... แฟลร์เป็นนักมวยปล้ำที่หน้าตาหล่อเหลา รูปร่างดี เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ที่สำคัญเขาคือนักมวยปล้ำ ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักมวยปล้ำที่เก่งที่สุดในช่วงเวลานั้น เรียกว่าเป็นนักมวยปล้ำที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดคนหนึ่ง ที่วงการมวยปล้ำเคยมีมา
อย่างไรก็ตาม ความสมบูรณ์แบบของ ริค แฟลร์ ทำให้สมาคมมวยปล้ำมองว่า หากเลือกให้แฟลร์เป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม เขาจะสร้างความเกลียดชังให้กับคนดูได้อย่างมาก
เพราะนี่คือนักมวยปล้ำที่จะกลายเป็นภาพแทน ของคนรวย คนที่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่เคยเห็นความสำคัญของผู้อื่น นอกจากความสำเร็จของตัวเองและพวกพ้อง แถมยังใช้พลังหรืออำนาจ ที่มีในการเสาะแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งเป็นกลุ่มคน ที่คนส่วนใหญ่ในสังคม รู้สึกไม่ชอบ เกลียด หรืออิจฉา
เมื่อบวกคาแรคเตอร์ของสุดยอดนักมวยปล้ำจอมตุกติก บวกนิสัยชอบดูถูกคนดูบนเวที ให้กับ ริค แฟลร์ เขาจึงกลายเป็นนักมวยปล้ำที่คนดูเกลียดอย่างสมบูรณ์แบบ
ยิ่งผู้ชมหมั่นไส้ในความแข็งแกร่ง เกลียดชัง ริค แฟลร์ มากเท่าไหร่ แฟนมวยปล้ำยิ่งหันไปเชียร์นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะมากเท่านั้น ... นักมวยปล้ำอย่าง สติง หรือ ดัสตี โรดส์ ได้รับความนิยมอย่างมาก จากแฟนมวยปล้ำ ในฐานะนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ ที่อาจหาญต่อสู้กับสุดยอดอธรรม อย่าง ริค แฟลร์
แม้จะมีรูปแบบในการแบ่งนักมวยปล้ำ ธรรมะและอธรรมที่เป็นแบบพื้นฐาน แต่สุดท้าย ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละสมาคม ว่าจะเห็นศักยภาพในตัวนักมวยปล้ำ แต่ละคนอย่างไร และเลือกใช้นักมวยปล้ำคนนั้นอย่างไร ที่จะสร้างผลประโยชน์ สร้างความนิยมให้กับสมาคมมากที่สุด
อธรรมสร้างธรรมะ
พื้นฐานของวงการมวยปล้ำอาชีพ คือธุรกิจ ยิ่งเวลาผ่านไป เม็ดเงินที่หมุนเวียนในวงการนี้ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแต่ละสมาคม จำเป็นจะต้องสร้างนักมวยปล้ำ ที่สร้างผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด
สมาคมมวยปล้ำ จึงต้องสร้างนักมวยปล้ำ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาคมให้ได้มากที่สุด และไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่า การสร้างนักมวยปล้ำธรรมะขวัญใจผู้ชม ที่จะนำมาซึ่งรายได้ ทั้งในด้านค่าตั๋ว, สินค้าที่ระลึก, ค่าโฆษณา รวมถึงสร้างฐานแฟนคลับ ช่วยให้สมาคมมวยปล้ำเป็นที่รู้จักมากขึ้น
แต่การสร้างนักมวยปล้ำยอดนิยม ไม่ใช่เรื่องง่าย ... เมื่อเข้าสู่ยุค 90’s แฟนมวยปล้ำเบื่อการสร้างนักมวยปล้ำ แนวพระเอก เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ประหนึ่งหลุดมาจากหนังสือการ์ตูน พวกเขาต้องการนักมวยปล้ำที่เป็นเหมือนคนจริงๆ สามารถสัมผัสตัวตนความเป็นมนุษย์ ของนักมวยปล้ำได้
คุณสมบัติที่ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมมากกว่า เพราะนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมส่วนใหญ่ เป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้เก่งกาจเกินจริง อันเป็นเหตุให้นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม ต้องนำกลโกง ลูกตุกติกต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ให้ตัวเองเป็นผู้ชนะ เหมือนกับที่คนในสังคม ต้องดิ้นรนทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
เมื่อแนวโน้มของแฟนมวยปล้ำ หันไปชอบนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม ชอบนักมวยปล้ำที่พ่นคำหยาบ ด่าคนดู ปล้ำขี้โกง เป็นชีวิตจิตใจ แทนที่จะเป็นนักมวยปล้ำทำความดี พระเอกตัวจริง เพื่อเด็กและเยาวชน ... สมาคมมวยปล้ำจึงต้องปรับตัวตาม ใช้บทบาทนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม เป็นทางผ่านนำไปสู่การสร้างนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะยอดนิยม
ชอว์น ไมเคิลส์ (Shawn Michaels) คือตัวอย่างที่ดีของการสร้างสุดยอดธรรมะ จากการเป็นอธรรม ... ชอว์นรับบทบาทฝ่ายอธรรมครั้งแรก ในช่วงปลายปี 1991 กลายเป็นอธรรมที่สมบูรณ์แบบ ขี้ขลาดตาขาว ชอบลอบทำร้ายคู่ต่อสู้ ด่าคนอื่นเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นจอมขี้โกงอีกด้วย
บทบาทคนเลวเต็มรูปแบบ ทำให้ในปี 1993 นิตยสาร Pro Wrestling Illustrated หรือ PWI นิตยสารมวยปล้ำชื่อดัง จัดให้ชอว์น เป็นนักมวยปล้ำที่คนเกลียดเป็นอันดับที่ 3 อย่างไรก็ตาม ชอว์นค่อยๆ พัฒนาคาแรคเตอร์ของเขา ถึงเขาจะเป็นจอมขี้โกง อธรรมแสนเลว แต่เขาเป็นนักมวยปล้ำที่มีความพยายาม ในการไลล่าความสำเร็จ อย่างไม่ยอมแพ้ แม้จะล้มเหลวอยู่หลายครั้ง
เวลาผ่านไปด้วยคาแรคเตอร์ที่พัฒนาขึ้น แฟนมวยปล้ำเริ่มเข้าถึงบทบาทของชอว์น บวกกับความสามารถของชอว์น ที่สร้างแมทช์การปล้ำยอดเยี่ยมได้เป็นจำนวนมาก จากเสียงโห่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นเสียงเชียร์ ขณะที่ชอว์นค่อยๆ ปรับตัว มาปล้ำแบบธรรมะมากขึ้น
จนในปี 1995 สมาคม WWE เปลี่ยนให้ชอว์นกลับมาเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะในที่สุด ตามเสียงเชียร์ของแฟนมวยปล้ำ ที่มีให้กับชอว์น และกลายเป็นนักมวยปล้ำ เจ้าของรางวัลนักมวยปล้ำยอดนิยม ประจำปี 1995 และ 1996 จากนิตยสาร PWI
หลังจาก ชอว์น ไมเคิลส์ เป็นต้นมา นักมวยปล้ำอย่าง สโตน โคล สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin), เดอะ ร็อค (The Rock), ร็อบ แวน แดม (Rob Van Dam), เอ็ดดี เกอร์เรโร (Eddie Guerrero), คริส เบนวา (Chris Benoit) และ จอห์น ซีนา (John Cena) ล้วนเริ่มต้นเส้นทาง ในฐานะนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมตัวฉกาจ เพื่อสร้างฐานแฟนให้กับตัวเอง และค่อยๆ พัฒนาคาแรคเตอร์ของตัวนักมวยปล้ำ
เมื่อถึงจุดที่ฐานแฟนเริ่มมั่นคง สมาคมจะพลิกบทบาทให้นักมวยปล้ำเหล่านี้ กลับมาเป็นฝ่ายธรรมะ เพื่อให้คนดูสามารถเชียร์นักมวยปล้ำเหล่านี้ ได้อย่างสะดวกใจ ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือรายได้และชื่อเสียงที่เติบโต ของสมาคมมวยปล้ำ
ในทางกลับกัน นักมวยปล้ำที่เคยได้รับการผลักดัน เป็นฝ่ายธรรมะหลายคน แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ หรือสร้างความนิยมได้ไม่ตามความคาดหวัง จะถูกเปลี่ยนให้มารับบทอธรรมแทน เช่น ทริปเปิล เอช (Triple H), บร็อค เลสเนอร์ (Brock Lesnar) หรือ เอดจ์ (Edge) เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการรับบทบาทผลักดันนักมวยปล้ำธรรมะของสมาคมต่อไป
วัดที่ศักยภาพ (ในการสร้างมูลค่า)
นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะคือคนที่แฟนมวยปล้ำเชียร์ นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมคือคนที่แฟนมวยปล้ำโห่ คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ... นักมวยปล้ำอธรรมที่คนดูเชียร์เยอะ สมาคมจะพลิกให้เป็นธรรมะ นักมวยปล้ำธรรมะที่คนดูไม่ชอบ สมาคมจะพลิกให้เป็นอธรรม เป็นแบบนี้มาตลอด
กระทั่งถึงยุคสมัยของ จอห์น ซีนา นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ ที่สมาคม WWE ผลักดันให้เขาเป็นนักมวยปล้ำพระเอกตัวพ่อ เป็นขวัญใจของแฟนมวยปล้ำรุ่นเยาว์ ต่อสู้ในกฎกติกา มารยาท อย่างถูกต้อง
ความเป็นพระเอก และเก่งกาจเกินความเป็นจริง ตามบทบาทที่ได้รับ ทำให้ซีนา กลายเป็นนักมวยปล้ำที่ได้รับการโห่จากแฟนมวยปล้ำ มากที่สุดคนหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่เขารับบทเป็นพระเอกของสมาคม เพราะแฟนมวยปล้ำเข้าไม่ถึงในตัวตนของ จอห์น ซีนา
แม้จะถูกโห่อย่างมาก แต่ WWE ไม่เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยน จอห์น ซีนา เป็นฝ่ายอธรรมแม้แต่ครั้งเดียว ทุกวันนี้แม้เขาจะหันไปแสดงภาพยนตร์ แต่เมื่อกลับมาที่เวทีมวยปล้ำ เขายังเป็นพระเอกคนดีคนเดิม และรับบทบาทฝ่ายธรรมะ มายาวนานกว่า 17 ปี ถือว่ายาวนานมากในวงการมวยปล้ำ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี คือกรณีของ โรมัน เรนส์ (Roman Reigns) นักมวยปล้ำที่ได้รับการผลักดัน จาก WWE เข้ามาเป็นพระเอกคนใหม่ แทนที่ จอห์น ซีนา ... ด้วยคาแรคเตอร์และวิธีการแบบเดิมที่ WWE สร้างตัวตนให้กับเรนส์ จนเรียกได้ว่า แทบตามรอยซีนาทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เรนส์ได้รับความเกลียดชังและเสียงโห่จากคนดู ไม่ต่างกับซีนา แถมมากกว่าด้วยซ้ำ จนเขาได้รับรางวัล นักมวยปล้ำที่คนดูเกลียดมากที่สุด ในปี 2016 จากนิตยสาร PWI และเป็นครั้งแรกที่นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะได้รับรางวัลนี้
เหมือนกรณีของ จอห์น ซีนา ถึงจะโดนโห่หนักแค่ไหน WWE ไม่เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยน โรมัน เรนส์ ให้เป็นอธรรม ถึงจะสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนมวยปล้ำจำนวนมาก พร้อมกับข้อสงสัยว่า ทำไมนักมวยปล้ำที่คนดูโห่ขนาดนี้ สมาคมมวยปล้ำถึงไม่คิดจะปรับเปลี่ยนเขาเป็นอธรรม
คำตอบคือการย้อนตั้งต้น ไปยังพื้นฐานรากสุดของวงการมวยปล้ำ นั่นคือวงการมวยปล้ำคือธุรกิจ นักมวยปล้ำที่เป็นฝ่ายธรรมะ สิ่งสำคัญคือพวกเขาต้องขายได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบัน ที่รายได้ของสมาคมมวยปล้ำ มาจากค่าโฆษณา การออกสื่อประชาสัมพันธ์ ร่วมกับแบรนด์ธุรกิจต่างๆ
แฟนมวยปล้ำอาจไม่ชื่นชอบ ซีนา หรือเรนส์ แต่ทั้งสองคนเป็นที่ชื่นชอบจากบรรดาสปอนเซอร์ ที่ให้การสนับสนุนสมาคมมวยปล้ำ รวมถึงมีภาพลักษณ์ดี ต่อยอดกับวงการบันเทิงรูปแบบอื่นได้ เช่น จอห์น ซีนา ที่ได้รับโอกาสเป็นพระเอกภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักมวยปล้ำ หรือ โรมัน เรนส์ ที่ได้ประเดิมแสดงหนังใหญ่ ฮ็อบส์ แอนด์ ชอว์ (Hobbs & Shaw) ไปเมื่อปีที่ผ่านมา
นักมวยปล้ำที่เป็นฝ่ายธรรมะส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือคนที่สามารถออกสื่อได้ โปรโมตสมาคมหรือสินค้าของสปอนเซอร์ได้ มีทัศนะคติเชิงบวกกับแฟนมวยปล้ำ และมีมูลค่ามากกว่าความเป็นนักมวยปล้ำ แต่ต้องเชื่อมโยงกับวงการบันเทิง หรือวงการกีฬาอื่นด้วย พูดง่ายๆ คือ มีความเป็นนักกีฬา และนักเอนเตอร์เทนอยู่ในตัว
แม้แต่ในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น กับสมาคมอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน อย่าง NJPW หรือ New Japan Pro Wrestling (นิว เจแปน โปร เรสริง) สองนักมวยปล้ำแถวหน้า ล้วนทำงานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ฮิโรชิ ทานาฮาชิ (Hiroshi Tanahashi) เป็นพระเอกภาพยนตร์ หรือ คาซึชิกะ โอกาดะ (Kazuchika Okada) ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบุคคล ที่จะได้วิ่งคบเพลงการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 2020
วงการมวยปล้ำในปัจจุบัน นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ จึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ชื่นชอบ ของแฟนมวยปล้ำอีกต่อไป แต่นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ สามารถเป็นใครก็ได้ ที่สามารถออกสื่อ และทำกิจกรรมต่างๆ นอกสังเวียน ร่วมกับสมาคม หรือสปอนเซอร์ของสมาคม
เช่นเดียวกับนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ การเลือกนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม มาจากการมองถึงคาแรคเตอร์ว่านักมวยปล้ำคนนี้ มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม ในการเข้ามารับบทพรีเซนเตอร์โปรโมทสมาคม หรือสินค้าของสปอนเซอร์หรือไม่ มากกว่าจะคำนึงเสียงเชียร์ของคนดู
นักมวยปล้ำที่มีภาพลักษณ์เป็นนักกีฬาสุดโต่ง ไม่มีความเป็นสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ จะได้เลือกให้มารับบทฝ่ายอธรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น เควิน โอเวนส์ (Kevin Owens), ซามี เซน (Sami Zayn), ชินซึเกะ นากามูระ (Shinsuke Nakamura), เบรย์ ไวแอตต์ (Bray Wyatt) เป็นต้น แม้ว่านักมวยปล้ำเหล่านี้ จะเป็นนักมวยปล้ำฝีมือดี และได้รับความนิยมจากแฟนมวยปล้ำก็ตาม
แต่ละช่วงเวลา วงการมวยปล้ำมีวิธีคิดแตกต่างกันออกไป ในการเลือกให้นักมวยปล้ำ รับบทบาทเป็นฝ่ายธรรมะหรืออธรรม แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือการเลือกฝั่งคนดีหรือคนเลวให้กับนักมวยปล้ำ ต้องนำมาซึ่งผลประโยชน์ แก่สมาคมมวยปล้ำ ในแต่ละยุค
กระนั้น การเลือกบทบาทให้กับนักมวยปล้ำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของการสร้างรายได้หรือมูลค่า ให้กับสมาคมมวยปล้ำเพียงอย่างเดียว
มีอีกหลายปัจจัย ที่สามารถนำไปสู่การเลือกบทบาทธรรมะหรืออธรรมของนักมวยปล้ำ ไม่ว่าจะในแง่ของเนื้อเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่, ความชอบส่วนตัวของนักมวยปล้ำ (ที่ส่วนใหญ่อยากรับบทเป็นฝ่ายอธรรม) หรือการนำเรื่องราวในโลกแห่งความจริง มาสร้างคาแรคเตอร์ให้กับนักมวยปล้ำตามสถานการณ์
แต่ไม่ว่าจะเป็นธรรมะหรืออธรรม สิ่งที่นักมวยปล้ำทุกคนต้องทำคือการออกไปหน้าฉาก ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟนกีฬามวยปล้ำทุกคน