สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ หลังจากนั้นพระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ
พระองค์ทรงชนะใจชาวจุฬาฯ ทุกคนนับตั้งแต่พระอาจารย์และพระสหายตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรร่วมชั้นด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม และทรงเข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มพระราชหฤทัยไม่ว่าจะเป็นการทรงดนตรี หรือการทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬา ส่วนทางด้านการเรียนนั้น ทรงมีผลการเรียนดีเด่นจนทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๒๐ แล้ว ได้ทรงศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาตะวันออก (ภาษาบาลีและสันสกฤต) จนจบหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต
เมื่อพระองค์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี ๒๕๒๐ นั้น สภามหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งกองทุนเพื่อเฉลิมฉลองศุภวาระนี้ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าบัณฑิตพระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงสำเร็จการศึกษาในประเทศไทย กองทุนนี้มีเงินทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและสนับสนุนทางด้านอารยธรรมไทย
“ข้าพเจ้าสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เหตุผลใหญ่ที่สอบเข้าคณะนี้ก็คงเหมือนคนอื่นๆ คือเป็นคณะที่คะแนนสูงสุด อีกประการหนึ่งในช่วงที่สอบเข้าข้าพเจ้าไม่ค่อยสบายจึงเลือกคณะที่ไม่ต้องสอบหลายวิชา และไม่ต้องสอบวิชาพิเศษ ถ้าสบายดีคงต้องเลือกคณะที่มีวิชาพิเศษ เช่น โบราณคดี หรือ ครุ-พละเอาไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคงต้องติดอักษรฯ เพราะคะแนนออกมาไม่เลวนัก จำได้ว่า เมื่อประกาศผลการสอบ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “ที่หนึ่งตกอันดับ” เนื่องจากข้าพเจ้าสอบชั้น ม.ศ. ๕ ได้ที่ ๑ แต่มาเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้เป็นที่ ๔”
การเรียนปีที่ ๑ เป็นปีที่ข้าพเจ้าคิดว่าเรียนลำบาก แต่ก็ตื่นเต้น ท้าทายและสนุกสนาน เพราะว่าจะต้องทำความรู้จักกับอาจารย์และเพื่อนใหม่ ๆ มากมาย ทั้งเพื่อนในคณะและต่างคณะ ทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน บางทีก็จำไม่ได้ แต่ก่อนเคยอยู่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งมีนักเรียนน้อยรู้จักกันหมดทุกคน นับว่า ต้องปรับตัวมากอยู่ มานึกย้อนหลังแล้วรู้สึกว่าครูบาอาจารย์เพื่อนฝูง เขาก็อดทนกับข้าพเจ้าพอใช้ ข้าพเจ้ามักพูดช้าตะกุกตะกัก เขาก็ยอมฟังดี นาน ๆ ก็ว่าเอาบ้างว่าพูดแบบนี้น่ารำคาญ ต่อมาข้าพเจ้าพูดดีขึ้นก็ชมเชย ครั้นพูดได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าเลยไม่ยอมหยุดพูด กลายเป็นคนพูดมาก ทุกชั่วโมงต้องหาเรื่องพูดในห้อง ซักถามอาจารย์บ้าง ตอบคำถามบ้าง
การพยายามจดจำชื่ออาจารย์และเพื่อน ๆ ให้ได้ บางทีก็ยากสำหรับผู้มาใหม่ อาจารย์บางท่านมีหลายชื่อ ทั้งชื่อจริงและชื่อที่นิสิตตั้ง ก็ต้องจำให้ได้ทั้งสองชื่อหรือหลายชื่อ เมื่อพี่ใช้ให้ส่งหนังสือตามโต๊ะจะได้ส่งถูก สำหรับเพื่อนในวันแรก ๆ ก็จำไม่ได้เช่น ฝาแฝด ป้อม-อ้วน มาคนละทีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นป้อมใครเป็นอ้วน
ระหว่างที่เรียนตั้งแต่ปีหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่เรียนได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือราชการขอมหาวิทยาลัยไม่ให้นับเวลาเรียน ซึ่งเขาก็ไม่นับ ถ้าเขานับข้าพเจ้าก็ต้องออกไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด วิธีการเรียนของข้าพเจ้าคือส่งคนมาอัดเทปไปฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าส่งการบ้าน รายงาน และเข้าสอบเหมือนนิสิตอื่น ข้าพเจ้าเรียกอาจารย์ที่พูดในเทปทั้งหลายว่า เทปาจารย์ อันเป็นคำสมาสของคำว่าเทปกับอาจารย์ การเรียนด้วยเทปาจารย์นั้นไม่สนุกเหมือนเรียนกับอาจารย์จริง ๆ ถามก็ไม่ได้ ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นกระดาน สมัยนั้นวีดีโอเทปยังไม่แพร่หลาย การคมนาคมก็ไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน กว่าจะได้รับเทปก็หลายวัน เคราะห์ดีมีพวกเพื่อนช่วยเก็บเอกสาร ช่วยจดให้ เวลากลับกรุงเทพฯ ก็ช่วยสอนช่วยติวให้ อะไรที่ข้าพเจ้าเก่งก็ช่วยทวนและเก็งข้อสอบให้เพื่อน ๆ ข้าพเจ้าเคยเก็งข้อสอบอย่างถูกต้อง ทำให้อาจารย์ตกใจนึกว่าข้อสอบรั่ว ข้าพเจ้าเก็งข้อสอบได้ แต่ก็ตอบไม่ได้ ต้องถามอาจารย์ คิดว่าท่านคงลำบากใจพอใช้เวลาอธิบายให้ข้าพเจ้า เรื่อง การสอนหนังสือกันเองนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งบ่นว่านิสิตนี้แปลก มีปัญหาอะไรแทนที่จะมาถามครูบาอาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอน กลับชอบถามกันเอง ข้าพเจ้าก็ชอบฟังรุ่นพี่ฟังเพื่อน การติวกันเช่นนี้ทำให้เห็นว่าไม่จริงเสมอไปที่การศึกษาระบบหน่วยกิตทำให้นิสิตขาดความสามัคคีกันแกล้งกันเพราะต้องแข่งขันเท่าที่เรียนมาเห็นพวกเพื่อนช่วยกันทุกคน
สรุปได้ว่าข้าพเจ้าเรียนกับเทปาจารย์เสียมากกว่าเรียนกับอาจารย์ธรรมดา ตัวข้าพเจ้าเองไม่ชอบนัก แต่พวกที่อยู่ด้วยเขาชอบบอกว่า ทำให้ได้เรียนด้วย ดังนั้นถือได้ว่า คณะอักษรศาสตร์ได้จัดระบบมหาวิทยาลัยเปิดแบบตลาดวิชาการศึกษาระยะไกล (ไกลจริง ๆ นั่งเครื่องบินสมัยนั้นหลายชั่วโมง) มานานแล้ว วิชาที่ข้าพเจ้าเรียนใช้ระบบนี้ได้ดี ใช้อ่านหนังสือฟังเทปก็พอ ถ้าเรียนอย่างอื่นก็ต้องปฏิบัติการต้องอยู่มหาวิทยาลัย
พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
นับถึงวันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนถิ่นศึกษาดั้งเดิมอยู่เป็นประจำในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และทุกครั้งจะทรงได้รับการยกย่องเทิดทูนจากดวงใจของชาวจุฬาฯ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย