ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่มีความจําเป็น และต้องรับการตรวจคัดกรอง มีผล 3 พ.ค.63
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(ฉบับที่ 5) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แล้ว นั้น
เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ยังคงดํารงอยู่ต่อไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรี จึงออกข้อกําหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การห้ามออกนอกเคหสถาน ให้การห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2563 และข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563 ยังคงใช้บังคับต่อไป
ผู้ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดด้วย เช่น ออกนอกเคหสถาน ในเวลาดังกล่าวและไม่ยอมรับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต หรือมั่วสุมชุมนุมกันทํากิจกรรม อันเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเวลาดังกล่าว อาจมีความผิดอีกสถานหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
หรือหากอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวไปกระทําความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดในเรื่องอื่น ๆ
นอกจากเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน และขณะเดียวกันก็เป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เช่น เสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาอันไม่เป็นความจริงซึ่งเป็นความผิด ตามข้อ 6 แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ให้ดําเนินคดีตามกฎหมายเหล่านั้น ทุกฐานความผิด
ทั้งนี้ ทางราชการอาจพิจารณาขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้กระทําความผิดดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐในโอกาสต่อไปด้วยก็ได้
ข้อ 2 การห้ามหรือข้อจํากัดการดําเนินการหรือการทํากิจกรรมบางอย่างตามพระราชกําหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
1. ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก เว้นแต่เป็นการดําเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์
2. ห้ามผู้ใดจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และ ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อยหนึ่งเมตร สถานที่ทํากิจกรรมต้องโล่งแจ้ง หรือไม่แออัด ใช้ระยะเวลาทํากิจกรรมไม่นาน และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด ในกรณีเป็นการประชุม การสัมมนา ควรจัดประชุมด้วยวิธีการตามพระราชกําหนดว่าด้วยการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563
3. ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยานเว้นแต่เป็นไปตาม ประกาศ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกําหนด
4. ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางบก ทางน้ําหรือทางอากาศ ปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกําหนดซึ่ง แบ่งออกเป็นมาตรการสําหรับชาวต่างประเทศ และมาตรการสําหรับผู้มีสัญชาติไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมจํานวนคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดที่เอกเทศไว้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต
5. ให้ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งหรือกําหนด เป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ ที่เอกเทศ หรือสถานที่ซึ่งทางราชการกําหนด ต้องปฏิบัติตามคําสั่งหรือเงื่อนไขดังกล่าวตามระยะเวลาที่กําหนด
6. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอํานาจ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 มีคําสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรคดังนี้ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง สวนน้ํา สนามเด็กเล่น สวนสนุก สวนสัตว์ สถานที่เล่น สเก็ตหรือโรลเลอร์เบรดหรือการละเล่นอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน สนุกเกอร์ บิลเลียด สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ําสาธารณะ สนามชนไก่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ออกกําลังกายฟิตเนส คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ สนามม้า สถานประกอบกิจการอาบน้ํา อบไอน้ํา อบสมุนไพร สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้าและสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ในพื้นที่รับผิดชอบเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกําหนดให้ผ่อนคลายต่อไป
7. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาปิด จํากัดหรือห้ามการดําเนินการสถานที่หรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากที่ระบุไว้ตาม (6) เพิ่มเติมภายในพื้นที่รับผิดชอบได้ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 แต่การสั่งให้เปิด ดําเนินการสถานที่หรือกิจกรรมใด ๆ ที่มีคําสั่งปิดหรือมีข้อจํากัดการใช้สถานที่ตาม (1) ถึง (5) หรือตามที่มีคําสั่งปิดตาม (6) และ (7) จะกระทํามิได้จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกําหนดให้ผ่อนคลายต่อไป
ข้อ 3 คําสั่งหรือการกําหนดตามข้อ 2 (3) (4) (5) (6) และ (7) ถือว่าเป็นคําสั่ง ตามข้อกําหนดที่ออกตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย
ข้อ 4 การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสําคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใดให้เป็นไปตามดุลยพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครองดูแลศาสนสถานนั้น ในกรณีมีมาตรการหรือคําแนะนําขององค์กรปกครองทางศาสนานั้นหรือของทางราชการเกี่ยวกับ การป้องกันโรค ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการหรือคําแนะนําดังกล่าว
ข้อ 5 ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจําเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งต้องรับการตรวจคัดกรอง และต้องปฏิบัติตาม มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดอันอาจทําให้การเดินทางต้องใช้เวลามากกว่าปกติ และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี