จากกรณี บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 386 คน จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ต.ค.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค. คณะบุคลากรทางการแพทย์แถลงเพิ่มจำนวนรายชื่อผู้ร่วมลงนามเพิ่ม รวมเป็น 1,008 คน แล้ว ทั้งนี้ โดยหลังเกิดเหตุกับ อดีตแพทย์หญิงรายหนึ่งของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็มีบางคนที่ไม่สบายใจและขอถอนชื่อออกไป แต่ก็มีผู้มาขอร่วมลงชื่อเพิ่มเติมจนยอดรวมเป็น 1,008 ชื่อ
โดยใจความเป็นไปตามแถลงการณ์ ฉบับแรกที่ ระบุว่า "จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนและกลุ่มสมทบอื่นๆ เพื่อสลายการชุมนุม ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ ยังมีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ตามหลักมนุษยธรรม
ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ต้องทำการรักษาอภิบาลผู้ป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงมิได้ตามคำปฏิญาณเมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ รวมถึงต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิผู้ป่วย (autonomy)
บุคลากรทางการแพทย์ดังรายชื่อแนบท้าย จึงขอร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อ เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐต่อผู้ชุมนุม เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ดังนี้
1. โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค
2. การดูแลการชุมนุมต้องปฎิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล หลักความได้สัดส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
3. การใช้รถยิงน้ำผสมสารเคมียิงไปยังผู้ชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงโดยสภาพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายเพื่อบังคับมาตรการนี้อย่างเป็นธรรมได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ แรงดันที่เกิดจากน้ำมีระดับสูง สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และจิตใจ
4. งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
5. เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ขอแสดงความนับถือ"