มองกรณี “แม่ปุ๊ก” เมื่อความสงสารอาจเป็นพิษต่อชีวิตเด็ก

มองกรณี “แม่ปุ๊ก” เมื่อความสงสารอาจเป็นพิษต่อชีวิตเด็ก
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีทารุณกรรมเด็กที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือกรณี “แม่ปุ๊ก” แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ถูกกล่าวหาว่าวางยาลูก 2 คน จนลูกคนโตเสียชีวิตและลูกคนเล็กบาดเจ็บสาหัส ซึ่งประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีทารุณกรรมเด็กที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือกรณี แม่ปุ๊ก แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ถูกกล่าวหาว่าวางยาลูก 2 คน จนลูกคนโตเสียชีวิตและลูกคนเล็กบาดเจ็บสาหัส ซึ่งประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษ คือบทบาทของความเป็นแม่ ที่ต้องรักและไม่ทำร้ายลูก รวมทั้งพยายามหาคำตอบว่าเด็กทั้งสองเป็นลูกที่แท้จริงหรือลูกบุญธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนมองข้ามไป คือปัจจัยแวดล้อมอย่าง “ความเมตตาสงสาร” ที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กทั้งคู่ต้อง “ถูกทำให้เจ็บป่วย” เพื่อให้แม่รับเงินบริจาคจำนวนมาก

ด้วยระบบสวัสดิการของรัฐที่ไม่ทั่วถึง ประกอบกับการที่คนไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการทำงานของรัฐ ส่งผลให้คนบางกลุ่มเลือกใช้วิธีการนำภาพความยากลำบากของตัวเองหรือความเดือดร้อนของเด็กและเยาวชนมาขอความช่วยเหลือผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งมีทั้งผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และบางครั้งก็เป็นการแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความใจดีของคนอื่น สิ่งที่ตามมาก็คือ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยหลายคนต้องถูกกักขังและถูกทารุณกรรมซ้ำๆ ให้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความสงสาร และบริจาคเงินทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ

คุณกอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผู้อำนวยการสหทัยมูลนิธิ ระบุว่า การนำเด็กมาแสวงประโยชน์เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยรูปแบบที่เห็นได้ชัดก็คือ การขอทาน หรือแม้กระทั่งสถานสงเคราะห์และมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ก็สามารถแสวงประโยชน์โดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือได้เช่นกัน และสำหรับกรณีของแม่ปุ๊กนั้น ก็ยังมีปัจจัยเสริมบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือมายาคติที่มีต่อผู้หญิงและความเป็นแม่

“ส่วนใหญ่เราก็คิดว่าผู้หญิงไม่โกง ไม่ทำอะไรที่ไม่ดี แล้วผู้หญิงก็ต้องรักลูกอยู่แล้ว เพราะเขาดูทุ่มเท พยายามทำเพื่อลูก อย่างเด็กคนที่สองที่ใช้เวลานานมากกว่าจะรู้ความจริง ก็เพราะหมอเองก็ไม่รู้ว่ามันมีจุดนี้ กว่าหมอจะรู้สึกว่ามันเกิดซ้ำจนเริ่มเอะใจ ก็ทำให้เด็กถูกทำร้ายซ้ำๆ” คุณกอบกาญจน์อธิบาย

แม้ว่าในสถานการณ์วิกฤต การช่วยเหลือเฉพาะหน้าอย่างการบริจาคเงิน เพื่อให้ผู้อื่นพ้นจากความยากลำบากจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน แนวทางการช่วยเหลือเช่นนี้ก็เป็นดาบสองคม ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาระยะยาวที่ไม่จบสิ้น ซึ่งจากมุมมองของคุณกอบกาญจน์ การบริจาคเงินตลอดเวลาอาจสร้างการพึ่งพิงในระยะยาวให้กับผู้ที่ขอความช่วยเหลือ ทำให้คนเหล่านั้นไม่คิดวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง เพราะได้เงินมาอย่างง่ายดายเรื่อยๆ จากคนหลายคน และยังส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว

 

“การนำเด็กมาแสวงประโยชน์ เช่น การขอทาน ทำให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นการตอกย้ำให้เด็กกลายเป็นคนที่นั่งรอรับความช่วยเหลือ ไม่มีคุณค่า หรือการนำเด็กมาแสวงประโยชน์ในโลกโซเชียล เรื่องของเด็กก็จะอยู่ในโลกออนไลน์ต่อไป วันหนึ่งถ้าเขามาเห็น เขาก็จะเห็นตัวเองที่ดูไม่มีศักดิ์ศรี แล้วมันก็ไม่ยุติธรรมกับเขา เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาทำ แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ทำกับเขา” คุณกอบกาญจน์อธิบาย

เมื่อมีผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนในสังคมก็ควรจะให้การช่วยเหลือ แต่จะช่วยอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นได้ประโยชน์จริงๆ และผู้ที่ช่วยเหลือก็ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการแสวงประโยชน์ อย่างเช่น การขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่พบได้บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับกรณีแม่ปุ๊ก คุณพิชามญชุ์ ก้อนทอง นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า

“โดยทั่วไปแล้ว ในโรงพยาบาลจะมีนักสังคมสงเคราะห์อยู่ และปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นปัญหาหลักของผู้ป่วยที่มาถึงมือของนักสังคมสงเคราะห์เสมอ ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ก็จะทำการประเมินและวินิจฉัยปัญหาทางสังคม ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา เพื่อแก้ปัญหาต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องขอรับบริจาคเงินแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ แนวทางปฏิบัติที่นักสังคมสงเคราะห์แนะนำเมื่อพบว่ามีผู้เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ คือการติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนเข้าสู่การช่วยเหลือที่เป็นระบบ

“ถ้าเข้าถึงระบบ เราจะไม่ได้ให้เงินเขาอย่างเดียว เราจะเห็นความจริงรอบด้านกว่าว่าเด็กคนนี้เป็นใคร เป็นลูกของเขาไหม ปัญหาของเขาคืออะไร สิ่งที่เขาต้องการความช่วยเหลือคืออะไร หรือในเชิงที่จะทำให้เขาพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว เพราะจากประสบการณ์ของเรา คนที่ลำบากไม่ได้ต้องการแค่เงินอย่างเดียว เขาต้องการคนที่เป็นที่พึ่งให้เขาทั้งในเรื่องความคิด ทักษะการจัดการ เรื่องการเงินต่างๆ รวมทั้งที่พึ่งทางใจ เพราะคนที่ไม่มีใครเลย ก็จะมีโอกาสทำอะไรที่ไม่ดีได้” คุณกอบกาญจน์กล่าว

ด้านคุณพิชามญชุ์ก็มองว่า วิธีการนี้จะช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดการนำเด็กมาแสวงประโยชน์ได้ เนื่องจากมีกลุ่มคนหลายฝ่ายช่วยกันจับตาดู

ระบบนี้ก็เหมือนทำให้เด็กออกมาอยู่ในสปอตไลต์ มีคนคอยสอดส่องดูแล มีระบบการช่วยเหลือทางสังคม ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลหรือสหวิชาชีพ แต่การเข้าสู่ระบบแบบนี้จะไปกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามาจับตาดูด้วย ว่าครอบครัวนี้มีปัญหานะ ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ถ้าชุมชนไหนเข้มแข็งก็จะเกิดการทำงานร่วมกัน” คุณพิชามญชุ์สรุป

2020-05-29 17:57:40
986

มวยดังในอดีต

มวยดังในอดีต ตำนานมวยไทย อดีตนักมวยชื่อดัง ตามหานักมวยชื่อดังในอดีต | ดีเด็ดมวยไทย

กีฬารอบโลก

กีฬารอบโลก นานากีฬา ข่าวเด็ดๆ คัดเน้นๆ เพื่อให้แฟน ทีเด็ดมวยไทย ได้ดูเน้นๆ กีฬาดังๆ ฮ็อตฮิตทั่วโลก

ดาวรุ่งภูธร

ดาวรุ่งภูธร มวยดาวรุ่ง มวยหน้าใหม่จากภูธร มวยบ้านนอก ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย

ขวัญใจแฟนมวย

ขวัญใจแฟนมวย นักมวยขวัญใจแฟนมวย นักมวยหน้าหยก พระเอกมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย