พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง โดยตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก (Sentinel Surveillance) ด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวัง
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการควบคุมป้องกันโรคสำหรับการดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรนและการควบคุมโรคในระยะยาว รวมทั้งเพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการเฝ้าระวัง
สำหรับผลการดำเนินงานการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประชากรกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง ด้วยการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก (Sentinel Surveillance) ของกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน ได้เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.63 ถึงวันที่ 3 มิ.ย.63 โดยได้ส่งตรวจทั้งสิ้น 4,759 ราย ไม่พบเชื้อ 3,792 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,027 ราย จำแนกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
พระ นักบวช ศาสนา จำนวน 326 ราย กลุ่มบุคลากรโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 209 ราย กลุ่มคนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 1,915 ราย ไม่พบเชื้อ 1,676 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 239 ราย กลุ่มพนักงานไปรษณีย์และพนักงานส่งของ 620 ราย ไม่พบเชื้อ 555 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 65 ราย บุคลากรกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 163 ราย ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัว 254 ราย ไม่พบเชื้อ 124 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 130 ราย
กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 124 ราย กลุ่มแรงงานก่อสร้าง จำนวน 852 ราย ไม่พบเชื้อ 259 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 593 ราย หน่วยงานภาครัฐที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก 101 ราย กลุ่มผู้ประกอบการในตลาด จำนวน 100 ราย และบุคลากรการแพทย์และอนามัย จำนวน 95 ราย
ทั้งนี้ กทม.ได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวนประมาณ 15,000 ชุด โดย กทม.กำชับให้สำนักอนามัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อนำส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครบภายในวันที่ 20 มิ.ย. นี้
นอกจากนี้ จะตรวจให้คำแนะนำประชาชน รวมทั้งบุคลากรของหน่วยงาน สถานประกอบการที่เข้าไปเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลังทำกิจกรรมต่างๆ กินร้อนช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้
สำหรับกลุ่มประชากรเสี่ยง คือ กลุ่มคนที่อยู่รวมตัวกันจำนวนมากหรือทำงานที่มีความเสี่ยงในการพบปะผู้คนจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำหนดให้สุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ประกอบด้วย
1.กลุ่มพระ นักบวช และบุคลากรที่เกี่ยวกับศาสนา 2.กลุ่มบุคลากรโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 3.กลุ่มคนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 4.กลุ่มพนักงานไปรษณีย์และพนักงานส่งของ 5.บุคลากรกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
6.ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัว 7.กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 8.กลุ่มแรงงานก่อสร้าง 9.กลุ่มบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก 10.กลุ่มผู้ประกอบการในตลาด และ 11.บุคลากรการแพทย์และอนามัย