หากจะมีบริษัทใดสามารถสร้างกำไรได้กว่า 500 ล้านยูโรภายในเวลา 15 ปี มันคงแสดงให้เห็นถึงทักษะการบริหารที่ยอดเยี่ยม ทิศทางที่ชัดเจน และบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะบริษัทเกี่ยวกับอะไรก็ควรค่ากับการชื่นชมทั้งนั้น
ในศาสตร์ของฟุตบอล มีบริษัท (สโมสร) หนึ่งที่ชื่อว่า เอฟซี ปอร์โต้ ทีมจากลีกโปรตุเกสที่ค่าลิขสิทธิ์น้อยนิด เงินทุนในการทำทีมน้อยกว่าทีมใหญ่ๆ ในยุโรปมากกว่า 20 เท่า ซึ่งในโลกทุนนิยมด้วยคุณสมบัตินี้มันยากจะลืมตาอ้าปากได้ ... แต่นั่นไม่ใช่กับทีมนี้
ย้อนชมเรื่องราวความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทีมๆ นี้ทำเงินได้มหาศาลจากการขายนักเตะ แถมยังเป็นทีมเดียวที่ไม่ได้มาจาก 4 ลีกใหญ่ซึ่งคว้าแชมป์ยุโรปได้ ...
ติดตามความเฉียบในโมเดลของ เอฟซี ปอร์โต้ ได้ที่นี่
พื้นเพชาวอเมริกาใต้
ก่อนจะเริ่มเรื่องการบริหารของ เอฟซี ปอร์โต้ หนึ่งในทีมที่ทำเงินจากการซื้อขายได้มากที่สุดในยุโรปนั้นเราคงต้องย้อนกลับไปดูเปลือกนอกของพวกเขาที่เราเห็นมาตลอด นั่นคือการใช้นักเตะอเมริกาใต้เป็นส่วนประกอบสำคัญของทีม นักเตะพวกนี้เป็นเหมือนดารานำที่มักจะแสดงผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจ จนทำให้แม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟน ปอร์โต้ ยังอดชื่นชมไม่ได้ ... พวกเขาเป็นแบบนั้นมาหลายปี แต่คำถามคือ ปอร์โต้ ทำได้อย่างไร ในเมื่อนักเตะอเมริกาใต้ คือหนึ่งในกลุ่มนักเตะที่เอาใจยากมากที่สุด
Photo : @InvictosSomos
ชาวลาติน (หรือคนอเมริกาใต้) มีลักษณะนิสัยที่รักครอบครัว พวกเขารักสนุกชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม และมันเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับนักฟุตบอลซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่จะต้องย้ายไปค้าแข้งต่างแดน พวกเขาต้องออกบ้านตั้งแต่อายุยังน้อยไปยังที่ที่ไม่รู้จัก และส่วนใหญ่ไปแบบตัวคนเดียว ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนการเจอสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้มีผลกระทบทางจิตใจไม่มากก็น้อย และเมื่อชีวิตความเป็นอยู่เกิดขึ้นในสภาพที่ไม่ปกติสุข ผลงานในสนามก็จะผิดเพี้ยนไปจากที่เคยเป็น
ที่ ปอร์โต้ นั้นมีความได้เปรียบในการรับเอานักเตะอเมริกาใต้เข้ามา ที่นี่ใช้ภาษาโปรตุกีสในการสื่อสาร ซึ่งสำหรับนักเตะอเมริกาใต้อย่าง บราซิล สามารถเข้าใจได้ทันที ขณะที่นักเตะละตินจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาสเปน แม้จะเข้าใจยากในส่วนของสำเนียงการพูด แต่ก็มีหลายคำที่ให้ความหมายเหมือนๆ กัน แม้จะไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดได้ แต่ก็ยังมีความใกล้เคียงระหว่างทั้ง 2 ภาษาอยู่บ้าง และยิ่งเป็นภาษาเขียนก็ยิ่งจะคล้ายกันมากกว่าภาษาพูดด้วยซ้ำไป
ดังนั้นเรื่องภาษาที่มีผลอย่างมากกับการปรับตัว จึงเป็นปัญหาในระดับที่ "น้อย" เมื่อแข้งลาตินมาค้าแข้งในโปรตุเกส สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือวัฒนธรรมของชาวโปรตุกีสที่มีความคล้ายคลึงกับชาวลาติน มากกว่าชาวยุโรปในภูมิภาคอื่นๆ จึงทำให้ไม่แปลกนักที่ โปรตุเกส กลายเป็น 1 ในเซฟโซนของนักเตะอเมริกาใต้ที่จะย้ายมาเล่นในยุโรป
Photo : desporto.sapo.pt
เรื่องดังกล่าวยืนยันได้จากการตีพิมพ์บทความของ Portuguese Football Players Union ที่เว็บไซต์ Breacher Report มานำเสนอ นั่นคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลีกสูงสุดของโปรตุเกสอย่าง พรีไมรา ลีกา นั้นมีนักเตะที่เกิดนอกประเทศค้าแข้งถึง 55% ของนักเตะทั้งหมด และผู้เล่นต่างชาติส่วนใหญ่นั้นเป็นนักเตะอเมริกาใต้ทั้งนั้น โดยเฉพาะแข้งบราซิเลี่ยนที่มีอยู่ในแทบทุกสโมสรเลยทีเดียว
สรุปง่ายๆ คือ โปรตุเกส เหมือนเป็นแผ่นดินทองของสำหรับแข้งอเมริกาใต้อย่างแท้จริง พวกเขาจะได้ใช้ภาษาที่คุ้นเคย วัฒนธรรมที่ไม่ต่างจากที่บ้าน และมีเพื่อนร่วมทีมซึ่งมาจากชาติเดียวกัน สำคัญที่สุดคือเมื่อพวกเขามีความเจริญก้าวหน้าในด้านพัฒนาการ สโมสรในโปรตุเกสไม่เคยลังเลที่จะขายพวกเขาออกจากทีมเพื่อทำเงิน ... ทุกอย่างที่คุณต้องการอยู่ที่นี่ และ เอฟซี ปอร์โต้ ใช้ประโยชน์จากที่กล่าวมาทั้งหมดสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ถ้วยรางวัล และ รายรับอย่างปฎิเสธไม่ได้
จับทางให้ได้ ... "รวย"
ปอร์โต้ นั้นมีประธานสโมสรที่ชื่อว่า ปินโต้ ดา คอสต้า เขาอยู่บริหารงานกับทีมนี้มายาวนานตั้งแต่ปลายยุค 80's และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเห็นโลกฟุตบอลมามากพอ จนคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต
Photo : jornalacores9.pt
หลังจากพ้นยุค 90's ไป ฟุตบอลกลายเป็นความบันเทิงที่ทำเงินมหาศาลโดยเฉพาะในลีกใหญ่ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นลีกใหญ่ๆ ในยุโรป จึงเริ่มทิ้งห่างลีกอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมน้อยออกไปทีละนิดๆ และสุดท้ายมันก็ยากที่ทีมจากลีกเล็กต้นทุนน้อยจะสู้กับยักษ์ใหญ่ได้ในระยะยาว หากคิดจะปะทะกันตรงๆ ยืนยันได้จากรายชื่อทีมที่คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก (ยูโรเปี้ยน คัพ) ก่อนหน้านี้ที่เคยมีทีมอย่าง เร้ดสตาร์ เบลเกรด (ยูโกสลาเวีย - เซอร์เบียในปัจจุบัน), สเตอัว บูคาเรสต์ (โรมาเนีย), เบนฟิก้า (โปรตุเกส) ที่ได้สอดแทรกขึ้นมาเป็นแชมป์บ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ยุค 2000's เป็นต้นมา 99% ของแชมป์ยุโรปเป็นทีมจาก 4 ลีกระดับแถวหน้าอย่าง อังกฤษ, สเปน, อิตาลี และ เยอรมัน เท่านั้น
เมื่อสู้กันตรงๆ ในแง่ของการทุ่มเงินแข่งขันซื้อสตาร์ไม่ได้ ปอร์โต้ ในยุคท่านประธาน ปินโต้ จึงเป็นทีมแรกๆ ของประเทศที่มองเห็นการสร้างทีมแบบใหม่ โดยมองกลับไปที่ต้นน้ำ นั่นคือการเลือกใช้คนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นเข้ามาเป็นผู้นำ เขาเลือก โชเซ่ มูรินโญ่ เข้ามาคุมทีมในช่วงต้นปี 2000 และเปลี่ยนนโยบายการซื้อขายใหม่ คือไม่ต้องทุ่มแข่งกับใคร แต่จงใช้เวลากับการหาแข้งพรสวรรค์ให้เจอตั้งแต่ที่นักเตะเหล่านั้นยังเป็นแค่เด็กหนุ่ม
Photo : sportslens.com
นโยบายดังกล่าวหากจะให้อธิบายง่ายๆ มันคือโมเดลที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่า "มันนี่บอล" (มาจากหนังเรื่อง Moneyball ที่ แบรด พิตต์ แสดงนำ) นั่นคือไม่ซื้อนักเตะเก่งๆ ค่าตัวแพง แต่ให้ความสำคัญกับการใช้แมวมองและสถิติอย่างละเอียด หานักเตะฝีเท้าเยี่ยมที่อาจจะอยู่ผิดที่ผิดทางจนนักเตะเหล่านั้นมีค่าตัวต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ยังมีการใช้แหล่งอ้างอิงมากกว่าการซื้อนักเตะทั่วไป มองไปถึง สถิติการเล่นแบบทีมเวิร์กในระยะยาว ผู้เล่นต้องบาดเจ็บน้อยที่สุด มีอัตราการทำบอลเสียต่ำ มีทักษะดีแต่ราคาถูก ไม่ใช่ทักษะเทพแต่เจ็บแล้วเจ็บอีก แถมอีโก้สูงทำทีมป่วนไปหมด ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมบัติดังกล่าวคือกลุ่มนักเตะดาวรุ่งที่ยังไม่ดัง นักเตะพวกนี้สู้ตายและทุ่มเทจนกว่าพวกเขาจะมีชื่อเสียง ... ซึ่งตอนนั้นนักเตะเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่กับ ปอร์โต้ แล้ว เพราะพวกเขาขายออกทันทีที่ได้ราคา
เรื่องดังกล่าวก็ต้องวกกลับไปที่เรื่องการดูแลนักเตะอเมริกาใต้ในแบบของ ปอร์โต้ อีกสักครั้ง ท่านประธาน ปินโต้ นั้นยืนยันเสมอว่า ระบบทีมของปอร์โต้ ผลักดันนักเตะต่างชาติโดยตรง เพราะนอกจากความได้เปรียบเรื่องภาษาและวัฒนธรรมแล้ว โมเดลการเล่นของ ปอร์โต้ ยังเน้นไปที่เกมรุก ให้อิสระในการเล่นเหมือนกับฟุตบอลอเมริกาใต้อีกด้วย ... แบบนี้มันยิ่งง่ายสำหรับการปรับตัวไปกันใหญ่
"บางครั้งคุณต้องคิดให้มาก เมื่อจะซื้อผู้เล่นอายุน้อยและพวกเขาต้องย้ายบ้านย้ายทวีปเพื่อมาใช้ชีวิตกับสโมสรใหม่ เรื่องเหล่านี้ละเอียดอ่อนมาก หากจัดการไม่ดีมันจะเป็นปัญหาร้ายแรง ... แต่ปัญหาแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่ ปอร์โต้ นักเตะพวกนั้นย้ายมาและรู้สึกว่าที่นี่เป็นเหมือนกับบ้านของพวกเขา เมื่อเซ็นสัญญา พวกเขารู้แน่ว่านี่คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่และมาพร้อมกับวัฒนธรรมที่ต้องการไปถึงชัยชนะ" ปินโต้ กล่าว
และความจริงอีกข้อคือ ไม่ใช่แค่นักเตะอเมริกาใต้เท่านั้นที่ ปอร์โต้ ต้องการ มันนี่บอล ของพวกเขาหมายถึงนักเตะทุกเชื้อชาติที่เก่งแต่ราคาถูกและอายุน้อย ใครก็ได้ที่เข้าคุณสมบัตินี้ ปอร์โต้ พร้อมจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อเข้ามาเล่นทีมชุดใหญ่เลย หรือจะเป็นการซื้อมาเก็บไว้ในทีมเยาวชนเพื่อรอวันให้โตเต็มที่
Photo : campeoes1980.wordpress.com
"ระบบเยาวชนนั้นสำคัญมาก เราต้องลงทุนเพื่อให้ใช้งานได้อย่างถาวร เพราะมันจะเป็นเหมือนพลังที่ทำให้เราสามารถเอาไปสู้กับทีมใหญ่ๆ ได้ แม้งบประมาณจะน้อยกว่าเกิน 20 เท่า"
"ไม่มีปีไหนเลยที่เราไม่เคยสูญเสียนักเตะที่ดีที่สุดในทีมไป (ขายให้กับทีมอื่น) แต่เราไม่ตื่นเต้น เพราะเราจะมอบความเชื่อใจที่มีให้กับนักเตะที่มีพัฒนาการก้าวหน้าและมีขีดความสามารถที่ยิ่งใหญ่" ปินโต้ กล่าวต่อ
แนวทางที่แน่นอนมาพร้อมกับโค้ชที่สามารถรีดเอาศักยภาพของนักเตะออกมาใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลังจากยุค 2000's เป็นต้นมา ปอร์โต้ ทำเงินได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ มูรินโญ่ พาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ในปี 2004 ซึ่งทำให้ ปอร์โต้ เป็นทีมเดียวที่ไม่ได้มาจาก 4 ลีกดังซึ่งคว้าแชมป์รายการนี้ได้
ทีมชุดนั้นของ มูรินโญ่ สร้างแรงกระเพื่อมแบบสุดๆ นักเตะชุดดังกล่าวหลังจากคว้าแชมป์ก็พากันตบเท้าย้ายออกด้วยราคาที่มากกว่าตอนที่ย้ายเข้ามาเป็น 10 เท่า ริคาร์โด้ คาร์วัลโญ่, เดโก้, เปาโล เฟร์ไรร่า,คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ทำเงินเข้าทีมในตลาดเดียวได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญ
Photo : www.ojogo.pt
ก่อนพวกเขาจะใช้เงินก้อนดังกล่าวไปซื้อนักเตะใหม่ๆ เข้ามาเพื่อทำกำไรอีกครั้ง ทั้ง ริคาร์โด้ กวาเรสม่า, เปเป้, ราอูล เมอเรเรส, หลุยส์ ฟาเบียโน่ และ จอร์จอส ไซตาริดิส ... ซึ่งหลังจากรายชื่อดังกล่าวเข้ามาได้ 1 ปีก็ถูกขายออกไปทำไรอีกครั้ง ในปี 2005 มานิเช่ ริเบโร่, จอร์จอส ไซตาริดิส, หลุยส์ ฟาเบียโน่, คอสตินญ่า, นูโน่ วาเลนเต้ ย้ายออกและทำกำไรรวม 50 ล้านยูโร
โดยเฉพาะในช่วงที่พวกเขาเริ่มจับทางและมีคอนเน็คชั่นกับเอเยนต์นักเตะอเมริกาใต้โดยตรง ยิ่งทำกำไรมากกว่าเดิมเยอะ นักเตะอย่าง อันแดร์สัน, ฮัลค์, ราดาเมล ฟัลเกา, ฮาเมส โรดริเกซ, นิโคลัส โอตาเมนดี้ ฯลฯ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ 15 ปีหลังสุด ปอร์โต้ ขายไปทั้งหมดเป็นเงินกว่า 900 ล้านยูโร
สถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยน
หลังจากประสบความสำเร็จทั้งเรื่องของถ้วยแชมป์และการทำกำไรมาอย่างยาวนาน ทุกวันนี้การเข้าถึงระบบเอเยนต์และการสร้าง ให้ความสำคัญกับทีมเยาวชนเริ่มเป็นที่นิยม และเป็นเป้าหมายหลักของทีมเล็กๆ แทบจะทั่วยุโรป ทุกทีมมีโมเดลนี้กันหมดจึงทำให้ตลาดการแย่งนักเตะดาวรุ่งนั้นเข้มข้นขึ้น
Photo : www.uefa.com
ไม่ต้องมองที่ไหนไกล เบนฟิก้า คู่แข่งหมายเลข 1 ของ ปอร์โต้ ก็ด้วย พวกเขาขึ้นมาตามติดด้วยระบบการใช้นักเตะอเมริกาใต้ราคาถูกและขายต่อราคาแพงเหมือนกัน แถมระยะหลังเป็น เบนฟิก้า ที่ทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ เบนฟิก้า ยังสร้างนักเตะเยาวชนเก่งๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ เจา เฟลิกซ์ ที่ขายได้ถึง 120 ล้านยูโร ในตลาดซื้อขายปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเรื่องของการซื้อขายแล้ว เบนฟิก้า ยังกลับมาเป็นเจ้าแห่งลีกโปรตุเกสได้ในระยะหลังอีกด้วย
ลีกโปรตุเกส ใช้โมเดลมันนี่บอลกันหมด นั่นทำให้งานของ ปอร์โต้ ยากขึ้นทั้งในและนอกสนาม ทุกวันนี้พวกเขาต้องใช้เงินเยอะกว่าเดิมในการเฟ้นหาดาวรุ่งฝีเท้าดีแบบที่เคยทำ ไม่ใช่แค่นั้น การลงทุนเรื่องแมวมองนั้นก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ตอนนี้ ปอร์โต้ มีทีมสเกาต์ในสังกัดมากกว่า 200 คนกระจายตัวไปทั่วโลก ซึ่งจำนวนดังกล่าวทำให้ต้นทุนทุกอย่างมากกว่าที่พวกเขาเคยใช้ในอดีต
ทุกวันนี้ ปอร์โต้ ยังคงยึดมั่นในระบบทีมเดิม ใช้กุนซือสายปั้น ใช้นักเตะอายุน้อย ค่าอายุเฉลี่ยของแข้งชุดปัจจุบันคือ 25.8 ปี นักเตะส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 23 ปี เพียงแต่การแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้พวกเขาต้องพัฒนารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเยาวชนที่ต้องทำให้ได้อย่างเนื่องมากกว่าที่เคยทำ กล่าวคือปั้นเด็กให้เก่งและขายให้ได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลานั่นคือสัจธรรม ทว่าที่สุดแล้วหากวัดที่ผลงานโดยรวมตลอด 20 ปีหลัง ปอร์โต้ ยังคงเป็นหนึ่งในทีมที่มีประสิทธิภาพในการซื้อ-ขายมากที่สุด พวกเขายังคงถนัดในการใช้กลยุทธ์มันนี่บอลได้อย่างช่ำชอง แม้จะยากลำบากขึ้นมาบ้าง แต่ 16 โทรฟี่ ขายนักเตะได้ 900 ล้านยูโร กำไรรวมเกือบๆ 500 ล้านยูโร คือตัวเลขที่สามารถยืนยันได้ว่านี่คือ 1 ในสโมสรที่ประบความสำเร็จได้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพของพวกเขาจะมีได้ ... เรียกได้ว่าเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้พวกเขามีวันนี้ได้อย่างแท้จริง
Photo : FC Porto