ในวัยย่าง 38 ปี “บัวขาว” ยังโลดแล่นอยู่บนสังเวียนผืนผ้าใบ ในฐานะนักชก พร้อมๆ กับการเป็นเจ้าของอาณาจักรมวยไทย “บัวขาว วิลเลจ” บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ รวมถึงมีงานด้านบันเทิง และเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าอีกมากมาย
คงไม่ใช่คำเขียนที่เกินเลยไปสักนิด หากจะบอกว่า “บัวขาว” คือไอค่อนของนักมวยไทยยุคนี้อย่างแท้จริง เพราะเขามีครบทุกอย่างทั้ง รางวัลความสำเร็จ, ชื่อเสียง, เงินทอง และความนิยมชมชอบที่แผ่กระจายไปไกลต่างแดน
Main Stand จะมาถอดรหัสว่าเหตุใด “บัวขาว” สมบัติ บัญชาเมฆ จึงกลายเป็น นักมวยไทยที่ประสบความสำเร็จมากสุดในยุคปัจจุบัน (ประสบความสำเร็จในทีนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ผลงานบนเวที แต่ยังหมายถึงภาพรวมของการเป็นนักกีฬาอาชีพ)
การฝึกซ้อมและระเบียบวินัย
“สิ่งที่คุณต้องมีคือประสบการณ์ ความอดทน และความขยันหมั่นเพียร ถ้ามีของพวกนี้ คุณประสบความสำเร็จแน่นอน”
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
คำพูดของ บัวขาว บัญชาเมฆ ที่ให้สัมภาษณ์กับ Timeout สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ล้วนเป็นผลจากความอดทน ขยันหมั่นเพียร ที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายปี
บัวขาว มีพล็อตชีวิตที่ไม่แตกต่างกับนักมวยไทยอาชีพทั่วไป เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนา ที่จังหวัดสุรินทร์ เริ่มต้นหัดชกมวยไทยตามงานวัด ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ก่อนย้ายมาอยู่ในค่าย ป.ประมุข ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อตอนอายุ 15 ปี (ช่องอายุ 7-12 ปี บัวขาว ผ่านการชกมาแล้ว 100 ครั้ง)
บัวขาว มีความใฝ่ฝันอยากชกมวยออกทีวีสักครั้งในชีวิต เขาคิดว่า หนทางเดียวที่จะช่วยให้เขาไปถึงเป้าหมายได้ คือ ความตั้งใจในการฝึกซ้อม
นั่นจึงทำให้ “บัวขาว” เลือกที่จะหันหลังให้การศึกษาในระบบ มาโฟกัสกับการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง และหาเวลาว่างเล่าเรียน กศน. (ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย) แทน
ผลของการจริงจังกับช่วงเวลาฝึกซ้อม ทำให้ บัวขาว มีร่างกายที่แข็งแกร่ง พละกำลังที่แข็งแรง กลายเป็นจุดขายของเจ้าตัวที่เป็นมวยสไตล์บู๊ดุดัน เดินอัด เดินเบียดคู่ชก ซึ่งการชกในลักษณะนี้ ต้องอาศัยร่างกายที่ฟิตสมบูรณ์อย่างมาก เพื่อเดินหน้าเปิดเกมได้ตลอดทุกยก รวมถึงทนทานต่อความเจ็บปวดจากอาวุธมวยของคู่ต่อสู้
เขาเคยเปิดเผยว่า โปรแกรมการฝึกซ้อมของตนนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 เบรก ช่วงเช้าตั้งแต่ 6.00-9.00น. และช่วงเย็นตั้งแต่ 15.30-19.00น. เป็นประจำแทบทุกวัน (หยุดแค่ 1 วันต่อสัปดาห์) ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงที่เขาดังและมีชื่อเสียง บัวขาว ก็ยังยึดมั่นและเชื่อในการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
สิ่งเหล่านั้น ส่งผลให้ บัวขาว สามารถยืนระยะได้นานกว่า นักมวยไทยในรุ่นราวคราวเดียว ที่ส่วนมากเลิกชกไปหมดแล้ว เพราะปกติ หากเป็นนักมวยไทยอาชีพ สไตล์บู๊ดุดันแบบบัวขาว มักจะอยู่ในช่วงเวลาดีที่สุดของชก ได้แค่อายุสัก 25-30 ปีเท่านั้น
เพราะหลังจากนั้น สภาพร่างกายจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก เนื่องจากการชกลักษณะนี้ ต้องใช้ร่างกาย และพละกำลังเยอะมาก จนทำให้ นักมวยโรยราได้ง่ายกว่า นักมวยประเภทตั้งรับ สู้ด้วยเหลี่ยมเชิง และการอาศัยจังหวะสองเล่นคู่ต่อสู้ ที่เรียกว่า “มวยฝีมือ”
แต่สภาพร่างกายของ บัวขาว ในวัยพ้นเลข 3 ยังคงดูเฟิร์ม และแข็งแรง เขาแทบไม่แสดงให้เห็นว่า สภาพร่างกายเขาโรยราไปตามวัย ภาพจำของ บัวขาว จึงยังคงเด่นชัด ในฐานะนักมวยไทยที่มีพละกำลังมหาศาล ชกได้ดุดัน ร่างกายทนทรหด ไม่ยอมแพ้ ไม่ถอดใจ ต่อยสนุกถูกใจคนดู แม้อายุจะมากแล้วก็ตาม
“เคล็ดลับของผมก็คือซ้อมเยอะๆ คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ผมทำ และทำจนสำเร็จมากกว่า มันเลยกลายเป็นรางวัลความสำเร็จของผม”
กล้าที่จะเติบโต
อย่างไรก็ดีชีวิตการเป็นนักมวยของ บัวขาว บัญชาเมฆ ใช่ว่าจะมาถึงจุดนี้ด้วยความง่ายดาย เพราะครั้งหนึ่ง เขาเคยประสบปัญหา จนทำให้ตนเองมีความคิดอยากยุติอาชีพ พ่อค้ากำปั้น แต่ทว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เขา มีทรัพย์สิน เงินทอง และชื่อเสียงเพิ่มพูนมากขึ้น
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2012 บัวขาว ตกเป็นข่าวดังคึกโครม เมื่อเจ้าตัวหายตัวไปจากค่ายเดิม ป.ประมุข ก่อนจะปรากฏอยู่ที่บ้านเกิด พร้อมกับทำค่ายมวยของตนเอง โดยใช้นามสกุล บัญชาเมฆ มาตั้งเป็นชื่อค่าย ก่อนจะมีการติดต่อนัดเจรจาส่วนแบ่งผลประโยชน์ใหม่กับทางค่ายเดิม
การเจรจายืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน ถึงขั้นฟ้องร้องกันเป็นคดีความ จนทำให้ บัวขาว เคยมีความคิดอยากจะเลิกชกมวย เนื่องจากตอนนั้นก็อายุ 30 ปีแล้ว กระทั่งมีการประสานจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อจบปัญหานี้
ท้ายที่สุด บัวขาว ได้เป็นอิสระจากค่าย ป.ประมุข พร้อมเปลี่ยนชื่อในการชกมวยเป็น “บัวขาว บัญชาเมฆ” ที่เขาจะได้สามารถเลือกรับงาน บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ และขยายธุรกิจค่ายมวยของตนเองได้อย่างเต็มที่
นั่นคือความแตกต่างระหว่าง บัวขาว กับ นักมวยไทยทั่วไป ที่แทบทั้งหมดล้วนมีสังกัด มีค่าย คอยทำหน้าที่ดูแล และแบ่งสิทธิประโยชน์ “นักมวยไทยอาชีพ” จะมีหน้าที่แค่ฝึกซ้อม และขึ้นสังเวียนไปชก
แต่สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของนักมวยยังเป็นทางค่าย โดยเรื่องค่าตัว งานจ้างต่างๆ รายได้ของนักมวย จะถูกแบ่งสัดส่วนกับทางค่ายตามตกลง เพื่อเป็นค่าบำรุงค่าย และผลประโยชน์ต่อตัวค่าย
เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งสถานที่กินอยู่หลับนอน อาหารการกิน อาหารเสริม ค่าจ้างเทรนเนอร์ การดูแลทุกอย่าง ทางค่ายเป็นผู้ออกทั้งหมดอยู่แล้ว เมื่อนักมวยทำผลงาน มีรายได้จากค่าตัว ก็จะมีการแบ่งกันโดยปกติอยู่แล้ว ตามโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องเอาเปรียบกันแต่อย่างใด
อันที่จริง ระบบค่ายมวยกับนักมวย ก็มีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป เช่น นักมวยที่มีค่าย เขาก็ได้รับการฝึกสอนอย่างถูกวิธี, มีผู้ใหญ่ที่คอยเจรจาหารายการให้ชกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการดูแลต่างๆ เงินรางวัลอัดฉีด
ไปจนถึงการต่อยอดเสนอนักมวยไปชกในรายการใหญ่ๆ ยกตัวอย่าง ค่าย พี.เค.แสนชัย, ค่ายเพชรยินดี, ค่ายจิตรเมืองนนท์ ที่มีการดูแลนักมวย และฝึกสอนนักมวยเป็นอย่างดี ก็ช่วยพัฒนาศักยภาพให้นักชกเก่งขึ้นและมีชื่อเสียง
ส่วนข้อดีของการแยกตัวออกมาเป็น “นักชก” เจ้านายตนเอง อันดับแรกคือเรื่องรายได้ที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ประการต่อมา เขาสามารถใช้เงินจ้างคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาทำงานได้ เช่น เทรนเนอร์, โค้ชฟิตเนส, ผู้จัดการส่วนตัว หรือทีมงานในค่าย
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
และประการสุดท้ายคือ บัวขาว บัญชาเมฆ สามารถเลือกรายการชกได้อย่างที่ตนเองต้องการ เพราะอย่าลืมว่าในวัยอายุเลยเลขหลัก 3 การจะต่อยใช้ร่างกายอย่างหักโหม ชกมวยไทย 5 ยกในประเทศนั้น เป็นสิ่งที่เสี่ยงเกินไป และให้ค่าตอบแทนได้น้อยกว่าที่ชกต่างประเทศ
แต่ความเสี่ยงก็มีนั่นคือ การที่นักมวยคนนั้น ต้องแบกรับต้นทุน ค่าใช้จ่ายทั้งหมด และแบกรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจเอง
“เรื่องร่างกาย ผมเตรียมตัววางแผนมานานหลายปีแล้วว่าจะดูแลร่างกายอย่างไร เพราะอายุก็มากขึ้น จึงต้องเลือกแต่รายการที่สำคัญเท่านั้น” บัวขาว กล่าว
สังเกตได้ว่า บัวขาว จะเลือกชกไฟต์ที่สามารถต่อยอดชื่อเสียง หรือโอกาสในการทำธุรกิจของเขา อาทิ การเซ็นสัญญาเข้าร่วมสังกัด คุนหลุน ไฟต์ ซึ่งเป็นองค์กรการต่อสู้เจ้าใหญ่ของประเทศจีน ทำให้คนจีนเริ่มหันมาสนใจ บัวขาว ยิ่งเมื่อเขาได้ชกกับนักมวยระดับซูเปอร์สตาร์ของ จีน อย่าง อี้ หลง ก็ยิ่งทำให้ฐานแฟนคลับในต่างแดนของเขา เพิ่มขึ้นไปอีก นอกเหนือจากในญี่ปุ่น ที่มีฐานเก่ามาจากสมัยที่บัวขาว ชกรายการ K-1
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
นี่ยังไม่รวมไฟต์ยิบย่อยที่เจ้าตัว ชกกับนักชกจากยุโรป ก็ส่งผลให้ บัวขาว เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จนมีชาวต่างชาติติดตามเขาเป็นจำนวนมากในระดับเดียวกับ แสนชัย พี.เค.แสนชัยมวยไทย อีกหนึ่งซูเปอร์สตาร์มวยไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล
ท้ายที่สุด บัวขาว ก็เลือกต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการเปิดค่ายมวยไทย ผสมผสาน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในชื่อ “บัวขาว วิลเลจ” บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวต่างชาติจำนวนมาก และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้นอกสังเวียนของเจ้าตัว
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
“ผมคิดว่าผมมาไกลเกินฝันที่อยากได้ออกทีวี สิ่งที่ตนได้ทำและเป็นความภาคภูมิใจคือ มีชาวต่างชาติที่ส่งจดหมายมาพยายามเขียนจดหมายภาษาไทยมาแบบตกๆ หล่นๆ แต่มีความพยายามมาก”
“พวกเขาเขียนจดหมายมาเป็นกองใหญ่ ว่าอยากรู้จักประเทศไทย อยากมาเมืองไทย อยากมาเรียนเมืองไทย ตรงนั้นผมรู้สึกว่า ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนต่างชาติอยากรู้จักประเทศไทย และมวยไทยครับ”
"ผมดีใจที่คนเห็นผมเป็นผู้บุกเบิก เป็นตัวแทนคนที่ส่งเสริมมวยไทยและศิลปะต่างๆ นี่แหละยิ่งใหญ่กว่ารางวัลใดๆ เลยครับ"
เป็นมากกว่านักกีฬา
บัวขาว วิลเลจ จึงเป็นการต่อยอดธุรกิจที่ชาญฉลาดมากๆ ของเขา ลองคิดดูว่า หากคุณชื่นชอบหรือคลั่งไคล้นักกีฬาสักคนหนึ่ง มันจะดีแค่ไหนถ้าได้ตื่นตอนเช้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบบ้านๆ แบบที่คนพื้นบ้านประเทศนั้นอยู่ และได้ซ้อมกีฬา อยู่ยิมเดียวกับ นักกีฬาคนโปรด
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
บัวขาว ทำให้แฟนคลับใกล้ชิด และมีประสบการณ์ร่วมกับเขา ผ่าน “บัวขาว วิลเลจ” นั่นแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดในการทำธุรกิจ และการวางตำแหน่งของตัวเองที่เป็นมากกว่าแค่นักกีฬา เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องการตีตลาดธุรกิจให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
แม้จะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมฯ จาก กศน. แต่บัวขาว ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการศึกษา เขามีปริญญาติดตัวถึง 3 ใบ ซึ่งในหนึ่งนั้นคือ ปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ที่เขาเลือกเรียนสาขานี้ เพราะต้องการศึกษาเรื่องการบริหารธุรกิจอย่างจริงจัง
ไม่เพียงเท่านั้น บัวขาว ยังปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์อยู่สม่ำเสมอ ด้วยคารม และทักษะสื่อสารที่ไม่แพ้นักแสดงคนใด เรียกว่ามีความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์อยู่ในตัว ทั้งบนเวที และนอกสังเวียน ทำให้ผู้คนชื่นชอบในตัวเขา
Photo : Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)
นอกจากนี้ การปรากฏอยู่ในหน้าสื่อๆ หลายครั้ง ยังทำให้ผู้คนในสังคมวงกว้างรู้จักเขา ต่อให้จะไม่เคยติดตามว่า บัวขาว ชกกับใคร ชกที่ไหน แต่ก็จะมีความรู้สึกชอบ ชื่นชม หรือมองว่า บัวขาว เป็นนักมวยไทยที่เก่งและประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย
แม้ว่าบัวขาวจะสร้างโอกาสให้ตัวเองจนมีรายได้ รายรับมากมายจากหลายๆ ช่องทาง ไม่ใช่แค่การชกมวย แต่เคล็ดลับสำคัญที่ยังทำให้เขามีเงินทองต่อยอดทำธุรกิจได้อีกเรื่อยๆ นั่นคือการที่เขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย
เขายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องระเบียบวินัย การดูแลตัวเอง ให้ฟิตสมบูรณ์เสมอ เพื่อรักษาระยะเวลา ในการชกมวยให้นานที่สุด
ควบคู่กับการรักษาชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และมองหาโอกาสใหม่ๆ นอกสังเวียน เพื่อต่อยอดรายได้และมูลค่าให้ตัวเขาเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ต่อให้ถึงวันที่เขาเลิกชกก็ตาม....