โดยกลุ่มกีฬาอาชีพ ช่วยเหลือ 5 กลุ่ม ทั้ง นักกีฬาอาชีพ, บุคลากรกีฬาอาชีพ, สมาคมกีฬาอาชีพ, สโมสรกีฬาอาชีพ, และ ผู้จัดการแข่งขัน ฟากวงการมวย จะจ่ายครอบคลุมคน 7 กลุ่ม คาดทั้ง 2 ส่วน จะเริ่มเบิกจ่ายเยียวยาตั้งเเต่เดือน มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ และกรรมการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา
สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือการพิจารณางบประมาณในการช่วยเหลือกลุ่มกีฬาอาชีพ โดยหลังจากคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มกีฬาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เรียกประชุมรับฟังข้อมูลผลกระทบ ความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 22-24 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ 13 ชนิดกีฬา และผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ ทั้ง 5 กลุ่ม เเบ่งออกเป็น 1.นักกีฬาอาชีพ, 2.บุคลากรกีฬาอาชีพ, 3.สมาคมกีฬาอาชีพ, 4.สโมสรกีฬาอาชีพ, และ 5.ผู้จัดการแข่งขัน และได้ส่งรายชื่อนักกีฬาและบุคคลากรกีฬาอาชีพที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พรบ.กีฬาอาชีพ ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนเรียบร้อยแล้ว
ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือ เยียวยา กลุ่มกีฬาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 182,200,000 บาท โดยอนุมัติปรับแผนงบประมาณประจำปี จำนวน 75,592,584 บาท และเห็นชอบเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ อีกจำนวน 106,607,416 บาท ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบปรับปรุงคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการกีฬาอาชีพ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จาก 8 คณะ เหลือ 4 คณะ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการกฎหมายกีฬาอาชีพ, 2.คณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมและพัฒนากีฬาอาชีพ, 3.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาให้การคุ้มครอง การช่วยเหลือ การส่งเสริม และการสนับสนุนกีฬาอาชีพ และ 4.คณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม เร่งรัด และประเมินผลการดำเนินงานกีฬาอาชีพ
ทั้งนี้ในเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการกีฬามวย ครั้งที่ 3/2563 พิจารณาอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ เยียวยา บุคคลในวงการกีฬามวยที่ลงขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักมวย อายุ 15-17 ปี และนักมวย 18 ปีขึ้นไป, 2.ผู้ฝึกสอน, 3.ผู้ตัดสิน, 4.หัวหน้าค่ายมวย, 5.ผู้จัดการนักมวย, 6.ผู้จัดรายการแข่งขัน และ 7.นายสนามมวย
ทั้งนี้ที่ประชุมอนุมัติกรอบวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 79,150,000 บาท โดยอนุมัติปรับแผนงบประมาณประจำปี จำนวน 25,642,000 บาท และเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ อีกจำนวน 53,508,000 บาท ต่อไป ทั้งนี้ในการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดตามระเบียบให้ความช่วยเหลือ
นายพิพัฒน์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องช่วยเหลือเยียวยาบุคลากรกีฬาอาชีพ โดยเอาเงินส่วนที่ กกท. มีอยู่แล้ว ประมาณ 75 ล้านบาทเศษ และจะขอจากกองทุนอีก 106 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงิน 182 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเยียวยาขั้นต้น
"ส่วนที่เป็นการเยียวยาสมาคมต่างๆ ทางกระทรวงจะนำเรื่องเสนอในการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ เพื่อจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการประชุมคราวต่อไป ในส่วนของสมาคม สโมสร เราจะช่วยเหลือสมาคมละ 500,000 บาท ซึ่งมีจำนวน 110 สโมสร รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงจะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อขอเงินจากกองทุนฯ"
"ในส่วนของนักกีฬาจะได้รับคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ถ้ายังไม่มีการแข่งขันหลังจาก 3 เดือน ก็ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลต่อไปว่าจะมีการเยียวยาเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าหากทางรัฐบาลมีการเยียวยาเพิ่มเติมจำนวนเท่าไหร่ ทางกระทรวงก็จะทำเรื่องเยียวยาให้กับนักกีฬาเทียบเคียงไปกับทางรัฐบาล โดยจะเริ่มจ่ายเงินในเดือนมิถุนายนทั้งหมด คาดว่าจะจ่ายครั้งเดียวรวมของทั้ง 3 เดือนเลย เป็นเงิน 15,000 บาท/คน"
รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติ่มว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการกีฬามวย โดยนักกีฬามวยกลุ่มอายุ ไม่ถึง 18 ปี ซึ่งไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาล ตรงนี้ก็เป็นกลุ่มแรกที่เราจะให้การเยียวยา และในกลุ่มที่มีอายุเกิน 18 ปี จะเอารายชื่อไปหารือกับกระทรวงการคลัง ว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อนกับที่ได้รับจากทางกระทรวงการคลังหรือไม่ ถ้าหากมีรายชื่อซ้ำซ้อนก็จะไม่ได้รับการเยียวยาจากเรา
"ที่ประชุมอนุมัติใช้เงินทั้งหมดโดยประมาณ 79 ล้านบาทเศษ โดยจะทำการเยียวยาให้เร็วที่สุด เมื่อได้รับเงินจากกองทุนฯมา ทาง กกท. จะให้การเยียวยารวมครั้งเดียวเลยเป็นเวลา 3 เดือน ถ้าหากยังไม่ได้รับการเยียวยาตั้งแต่ต้น ก็จะได้รับเงิน 15,000 บาท ทีเดียวเลย ลักษณะเดียวกับกีฬาอาชีพ แต่ตรงนี้เรามีต่อเนื่องไปว่า นอกจากนักมวยแล้วยังมีครูมวย และบุคลากรทางกีฬามวย หัวหน้าค่ายมวยและโปรโมเตอร์ด้วย ซึ่งเราจะดูความเหมาะสมว่าวงเงินที่ได้รับจากกองทุนกีฬาเท่าไหร่ เราก็จะดูตามความสำคัญแต่นักมวยเราจะให้ความสำคัญลำดับที่1 ครูมวยลำดับที่2 แล้วก็ลดลงมาตามวงเงินที่ได้รับ แต่คาดว่าเงินที่เราขอทางกองทุนน่าจะได้รับตามที่ขอไป
ด้าน รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า ในการประมาณการงบประมาณทางฝ่ายเลขาฯ มีการบวกเพิ่มไว้อีก 2 เดือน กลายเป็น 5 เดือน ที่เราจะช่วยเหลือ แต่ว่าในความเป็นจริงเราจะต้องดูมาตรการของรัฐบาลควบคู่กันด้วย เพียงแต่ว่าในเรื่องของตัวเลขเราจะต้องประมาณการเต็มไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการกีฬามวยก็ระบุว่า อยากจะให้ช่วยเหลือเหมือนกันกีฬาอาชีพ เหมือนกับมาตรการของรัฐบาลก่อน คือ 3 เดือน ดังนั้นงบประมาณจึงหายไปประมาณ 33 ล้านบาท เราจะขอตั้งงบประมาณตรงนี้ไว้ 79 ล้านบาทเศษก่อน และขอกองทุนเพิ่มอีกบางส่วน อย่างไรก็ตามหากดำเนินการไปแล้วทางรัฐบาลมีมาตรการที่จะคุมเข้มนานขึ้น เราอาจจะทำเรื่องประมาณการและขอการสนับสนุนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
รองผู้ว่าการฯ กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขจำนวนนักมวยและบุคลากรที่จะให้การเยียวยาต้องพิจารณาบุคคลที่มาขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับ กกท. ก่อน แต่เนื่องจากในบุคลากรพวกนี้ส่วนหนึ่งได้รับเงินจากภาครัฐแล้วที่ได้รับเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ฉะนั้นเราก็ต้องตัดส่วนนั้นออก ซึ่งจะช่วยในส่วนที่ยังไม่ได้รับเงินจากตรงนั้น ซึ่งขณะนี้รายชื่อทั้งหมดฝ่ายเลขาฯ ได้ส่งไปที่กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบแล้วว่ามีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะมีบุคคลที่ตกหล่น ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งขณะนี้เราเปิดให้ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม จนถึง 31 พ.ค.นี้