รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทางออนไลน์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ PREDICT ทำงานภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ ยูเสด (USAID) ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำลายและมูลค้างคาว ซึ่งเก็บมาจากค้างคาว 11 ชนิดพันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 464 ตัว
สถานที่ซึ่งใช้เก็บตัวอย่าง 3 แห่งของเมียนมา ตั้งอยู่เขตภาคเหนือในย่างกุ้งใกล้กับอุทยานแห่งชาติลอว์กา ซึ่งเป็นถ้ำที่มนุษย์เข้าไปเก็บมูลค้างคาวมาขาย รวมทั้งถ้ำที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนเข้าไปสักการะพระพุทธรูป ซึ่งทำให้มนุษย์มีความใกล้ชิดกับค้างคาว โดยทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างตั้งแต่ปี 2016-2018 และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลของเมียนมา
ค้างคาวทั้งจำพวกที่กินแมลงและกินผลไม้ถูกนำมาศึกษาด้วยการดักจับมาเก็บตัวอย่างทั้งน้ำลาย ปัสสาวะและอุจจาระ ก่อนปล่อยเป็นอิสระ โดยเก็บตัวอย่างและทดสอบทั้งสิ้น 759 ตัวอย่าง เก็บในฤดูแล้ง 461 ตัวอย่าง และ 298 ตัวอย่างเก็บในฤดูฝน
ผลวิเคราะห์พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใน ค้างคาวเพดานใหญ่ (Scotophilus heathii) ทีมนักวิจัยตั้งชื่อว่า PREDICT-CoV-90 ค้างคาวปากย่น (Chaerephon plicatus) พบเชื้อ PREDICT-CoV-47 และ PREDICT-CoV-82 ส่วนในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) ค้นพบเชื้อใหม่อีกสามชนิดคือ PREDICT-CoV-92, PREDICT-CoV-93, PREDICT-CoV-96
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 6 ชนิดที่ค้นพบล่าสุด จัดอยู่ในวงศ์ Coronaviridae เช่นเดียวกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรค โควิด-19 แต่ยังมีข้อมูลพันธุกรรมแตกต่างไปจากเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และเชื้อไวรัสโรคเมอร์ส (MERS) จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไวรัสโคโรนาที่พบใหม่นี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้นได้อีกหรือไม่
การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เข้าไปทำกินในธรรมชาติ ทำให้มีแนวโน้มให้มนุษย์มีความใกล้ชิดกับค้างคาวมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผลการวิจัยพบว่าค้างคาวมีความเกี่ยวข้องกับโรคระบาดทั่วโลก หน่วยงานด้านสาธารณสุขจึงควรศึกษาและหาวิธีให้มนุษย์และค้างคาวอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ค้างคาวเป็นสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมีการสันนิษฐานว่าเชื้อดังกล่าวติดต่อมาสู่คนผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะตัวกลางอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษามีความเป็นไปได้ว่า ตัวนิ่มใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน จึงอาจติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากมูลค้างคาวได้
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับค้างคาว ผ่านเฟซบุ๊ก Manop Pithukpakorn ระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า
ข้อมูลสนับสนุนว่า รหัสพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 มีความคล้ายคลึงกับ SARS-CoV และ MERS-CoV ซึ่งก่อให้เกิดโรค SARS และ MERS ที่เคยระบาดไปก่อนหน้านี้ เป็นไวรัสที่มี RNA เป็นสารพันธุกรรมในตระกูล coronaviridae กลุ่มที่เรียกว่า beta-coronaviridae นอกจาก SARS-CoV และ MERS-CoV แล้ว ยังมีเชื้อชื่อแปลกๆ อย่าง OC43 และ HKU1 ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดปกติที่เราเป็นกันอยู่แทบทุกปี
ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ยังบอกเราอีกว่าไวรัสนี้มีเครือญาติใกล้ชิดกับไวรัสที่อาศัยอยู่ในค้างคาว จึงเชื่อได้ว่าแหล่งต้นกำเนิดของไวรัสนี้มาจากค้างคาว เช่นเดียวกับ SARS-CoV และ MERS-CoV แต่การแพร่ของเชื้อมายังมนุษย์ไม่ได้เกิดจากการรับเชื้อจากค้างคาวโดยตรง แต่น่าจะส่งผ่านจากค้างคาวไปยังตัวนิ่ม (pangolin) ก่อน พออาศัยในตัวนิ่มอยู่ซักพัก จากนั้นมนุษย์ก็คงจับตัวนิ่มไปกินเลยสัมผัสเชื้อมา โมเดลนี้คล้ายคลึงกับ MERS ที่พบว่าค้างคาวเป็นแหล่งต้นกำเนิด โดยมีอูฐรับเชื้อจากค้างคาวมาก่อนจะส่งไม้ต่อให้มนุษย์อีกที