ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 พ.ค.) ชาวบ้าน ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ร้องเรียนสื่อมวลชน หลังจากติดต่อเข้าถอนเงิน 5,000 บาท โครงการช่วยเหลือภาครัฐจากผลกระทบโควิด-19 และไปติดต่อขอถอนเงินฝากส่วนตัว ไม่ได้รับความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ธนาคารชื่อดัง สาขาย่านตาขาว จ.ตรัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านทำบัตรเอทีเอ็มพร้อมประกันอุบัติเหตุ โดยมีค่าบัตรจำนวน 699 บาท และไม่ทำรายการถอนเงินที่เคาน์เตอร์ปกติให้
โดย นางจิราวรรณ อายุ 51 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงินจำนวน 10,000 บาท เมื่อไปถึงธนาคารตนต้องรอคิวและได้เขียนใบถอนเงินและยื่นที่เคาน์เตอร์ฝากถอน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำรายการถอนเงินให้ และแจ้งให้ตนทำบัตรเอทีเอ็มพร้อมประกันอุบัติเหตุ ในราคาบัตร 699 บาท
ตนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าไม่สะดวกใช้บัตรเอทีเอ็ม เพราะตนไม่มีความรู้ ที่ผ่านมาไม่เคยใช้บัตรเอทีเอ็ม แต่เจ้าหน้าที่ยัดเยียดให้ทำบัตรเอทีเอ็ม พร้อมพาตนลงไปที่ตู้กดเงินสดหรือ ตู้เอทีเอ็ม ด้านหน้าธนาคาร และสอนให้ตนใส่รหัสเอทีเอ็ม และบอกขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลานาน แต่ตนทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจึงกดถอนให้
ทั้งนี้ ตนรู้สึกแปลกใจ เพราะเป็นลูกค้าธนาคารดังกล่าวมาโดยตลอด และมีการฝากถอนปกติ ไม่มีการใช้บัตรเอทีเอ็มแต่อย่างใด แต่เมื่อมีเงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯ ในช่วงโรคระบาดโควิด -19 เข้ามาธนาคารกลับให้ทำบัตรเอทีเอ็มในอัตราค่าธรรมเนียมสูงถึง 699 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีค่ามากสำหรับชาวบ้าน เพราะใช้จ่ายประทังชีวิตได้หลายวัน
เช่นเดียวกับ นางใกล้ อายุ 58 ปี กล่าวว่า ตนไปจะถอนเงินจำนวน 15,000 บาท ซึ่งเป็นเงินฝากปกติบัญชีออมทรัพย์ของตน เมื่อไปติดต่อเคาน์เตอร์ฝากถอนเงิน แต่ได้รับการปฏิเสธเจ้าหน้าที่ไม่ทำรายการถอนให้ แต่แจ้งให้ตนทำบัตรเอทีเอ็มพร้อมประกันอุบัติเหตุ ในอัตราค่าธรรมเนียม 699 บาท แต่ตนไม่ยอมทำ เพราะตนใช้บัตรเอทีเอ็มไม่เป็น ก็ถูกเจ้าหน้าที่คะยั้นคะยอ โดยอ้างความสะดวก จึงโต้เถียงกันอยู่นาน
จนลูกสาวที่ไปด้วยก็โวยวายขึ้นมาและยืนกรานไม่ให้แม่ทำ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ และเงินดังกล่าวก็เป็นเงินส่วนตัว ตนอายุมากแล้วไม่สะดวกใช้บัตรเอทีเอ็ม และเคยชินกับการเบิกถอนที่เคาน์เตอร์ฯ เพราะที่ผ่านมาตนฝากถอนได้ตามปกติ โดยตนได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าหากไม่ยอมให้ถอนเงินตนจะปิดบัญชีกับธนาคาร และนำเงินไปฝากกับธนาคารอื่นๆ
ทั้งนี้ ตนเองต้องไปธนาคารถึง 2 วันติดต่อกัน กว่าจะได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าว ไปวันแรกไปรอตั้งแต่เช้า เจ้าหน้าที่ให้นั่งรอใต้ถุนอาคารนานมาก ไม่มีบัตรคิวให้ แต่ภายหลังเอาบัตรคิวมาให้ ตนเองได้ลำดับที่ 153 ปรากฏว่าตนเองรอจนถึงเย็นธนาคารใกล้จะปิด
และเห็นตัวเลขขานคิวค้างอยู่ที่คิวที่ 150 จึงเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่าตนเองจะเบิกเงินได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้แค่คิวที่ 150 เท่านั้น ทำให้ตนเองเสียเวลามากทั้งวัน โดยเจ้าหน้าที่บริหารจัดการไม่เป็น หากแจ้งว่ารับคิวได้แค่ 150 คน ตนก็จะได้กลับบ้าน ไม่ต้องเสียเวลารอ แต่พอไปวันที่ 2 ก็ถูกบังคับจะให้ทำบัตรเอทีเอ็มดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ธนาคารดังกล่าว พบว่ามีชาวบ้านเดินทางมารับบริการจำนวนมากทั้งเบิกเงิน และขอกู้เงิน ส่วนบริเวณตู้เอทีเอ็มด้านหน้าธนาคารมีชาวบ้านเดินทางไปกดเงินเป็นระยะๆ
ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งเดินถือสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และบัตรเอทีเอ็มที่เจ้าหน้าที่ให้ทำใหม่เดินลงมาจากธนาคาร พร้อมกับกล่าวว่า นำสมุดบัญชีมาถอนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลกับธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าคนเยอะไม่อยากให้ไปรอแออัดหน้าเคาน์เตอร์ จึงให้ทำบัตรเอทีเอ็มใหม่ ใบละ 699 บาท ส่วนตัวก็บอกแล้วว่าไม่อยากทำ เพราะใช้ไม่เป็น แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้ทำ
จากนั้นให้ลงมากดหน้าตู้เอทีเอ็มแทน ซึ่งก็พบว่าชาวบ้านกดเงินไม่เป็น จึงมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาสอนวิธีการกดตามลำดับขั้นตอนให้ ตั้งแต่กดรหัส เลือกเมนูภาษา และทำรายการ ซึ่งบางรายต้องใช้เวลานานประมาณ 3 - 4 นาที
หากเบิกเงินที่เคาน์เตอร์ตามความประสงค์ก็จะเสร็จเร็วกว่า และบางรายเกือบจำรหัสผ่านไม่ได้ เมื่อสอบถามกับชาวบ้านทราบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มาเบิกเงินโครงการช่วยเหลือภาครัฐ และได้ถูกชักจูงจากเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ทำบัตรเอทีเอ็ม ในอัตราค่าธรรมเนียม 699 บาท
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามขอสัมภาษณ์ผู้จัดการธนาคารถึงเรื่องดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถจะให้สัมภาษณ์ได้ ต้องระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของธนาคารรายหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลและขอความเห็นใจว่า การที่ธนาคารต้องให้ประชาชนทำบัตรเอทีเอ็ม และทำการกดถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม เนื่องจากว่าขณะที่ในแต่ละวันจะมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงขอความกรุณาให้ลูกค้าทำบัตรเอทีเอ็ม เพราะไม่อยากให้ลูกค้าเข้ามาแออัดภายในธนาคาร และต้องป้องกันเชื้อโควิดตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องมีระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing จึงให้ประชาชนที่สามารถทำได้ ทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อไปกดเงินหน้าตู้แทน
แต่ปรากฎว่าประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก ทำให้บัตรเอทีเอ็มทั่วไปหมด โรงงานผลิตไม่ทัน จึงต้องใช้บัตรเอทีเอ็มในราคาดังกล่าว แต่มีประกันอุบัติเหตุเสริมให้ด้วย และก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็น ถ้าประชาชนไม่เป็นตั้งแต่ตอนนี้ ก็ไม่ทราบจะเป็นเมื่อใด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกใช้บัตรเอทีเอ็ม
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งแต่ละวันจะมีประชาชนประมาณ 100 คิว เฉลี่ยทำได้ชั่วโมงละประมาณ 10 คิวเท่านั้น