มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภท นี้มีมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝน วิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างจัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธในสมัยโบราณ เช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าต่อสู้ติดพันประชิดตัว ก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชนซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดา อาจารย์ซึ่งเดิมเป็นขุนพลหรือยอดนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
มวยไทยศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัว แต่ก็แตกต่างไปจากมวยสากล คือ นอกจากจะใช้หมัดชกคู่ต่อสู้แล้ว ยังสามารถใช้ เท้า เข่า และศอกต่อสู้ได้อีก การใช้หมัดชกในแบบมวยไทย นอกจากจะมีการชกตรง ชกชุด และชกอัปเปอร์คัต เหมือนกับแบบมวยสากลแล้ว มวยไทยยังได้มีการชกมวยแบบมุดตัวเหวี่ยง หมัดกลับ ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้จ้องดูและไม่ก้มศีรษะลง มักจะถูกหมัดเหวี่ยงกลับของคู่ต่อสู้ถึงกับน็อกเอาท์ก็ได้ หมัดเหวี่ยงกลับก็เป็นหมัดหนึ่งคล้ายกับมุด ตัวเหวี่ยงหมัดกลับ แต่ใช้ข้อมือหรือหลังมือทุบหรือตีคู่ต่อสู้ นักมวยไทยทั่ว ๆ ไปยังใช้วิธีชกตามแบบเหล่านี้อยู่ และนอกจากนั้นยังใช้อวัยวะอย่าง อื่นช่วยได้อีกหลายวิธี เช่น ใช้เท้าเตะต่ำ เตะสูง เตะตรง เตะตัด และถีบ ซึ่งจะใช้ได้ทั้งปลายเท้า ฝ่าเท้า หลังเท้า และส้นเท้า นักมวยไทยมีความชำนาญ มากในการใช้เท้า ส่วนใหญ่เป็นการเตะและถีบ ส่วนการใช้เข่า นักมวยไทยก็ใช้ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น กระโดดตีเข่า จับกอดคู่ต่อสู้ตีเข่า นอกจากนั้น ยังรู้จักใช้ศอกซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง วิธีตีศอกก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือ ศอกตี หมายถึงกดปลายศอกลงโดยตรงศอกตัด คือ เหวี่ยงศอกขนานกับพื้น ศอกงัด คือ วัดปลายศอกขึ้น หรือยกปลายศอกขึ้น ศอกพุ่ง คือ พุ่งศอกออกไปยังคู่ต่อสู้ ศอกกลับ คือ การหมุนตัวกลับพร้อมกับตีศอกตามแบบต่าง ๆ ไปด้วย
การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว ต่อสู้กันจริง ๆ และหวาดเสียวตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้นักมวยสมัยเก่าต้องใช้ด้าย ดิบชุบแป้งให้แข็ง เส้นโตขนาดดินสอดำพันมือตั้งแต่สันมือตลอดถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อนิ้วมือ (สันหมัด) เป็นรูปก้นหอยที่เรียกว่า “คาดเชือก” ซึ่งไม่มีการสวมนวมเหมือนอย่างสมัยปัจจุบัน ฉะนั้นการชกแข่งขันในสมัยนั้นเมื่อถูกชกใบหน้า หรือเพียงแต่เฉียดผิดหนังส่วนใดส่วนหนึ่งไปเท่านั้น ก็แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้เลือดซึมออกมาทันที ในสมัยก่อน เมื่อครั้งยังไม่มีกติกาข้อห้ามมากนัก กับทั้งไม่รัดกุมเหมือนสมัยปัจจุบัน นักมวยทั้งสองฝ่ายจะ ต้องต่อสู้กันอย่างระมัดระวัง ศีรษะก็ใช้ชนคู่ต่อสู้ได้ เพียงแต่ห้ามกัดกันเท่านั้นต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงกติกาการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
การแข่งขันมวยไทยในปัจจุบันนี้ นักมวยต้องสวมนวม ขนาด 4 ออนซ์ และแต่งกายแบบนักกีฬามวย คือ สวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ ส่วนผู้ใดจะสวมปลอกรัดข้อเท้า และจะมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่านบนก็ได้ ในการแข่งขันมีผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวที 1 คน มีผู้ตัดสินให้คะแนนอยู่ข้างเวที 2 คน มีผู้จับเวลา 1 คน และมีแพทย์ประจำเวที 1 คน จำนวนยกในการแข่งขันทั้งหมดมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนัก ตัวของนักมวยเหมือนกับหลักเกณฑ์ของมวยสากล ผู้ตัดสินมีอำนาจหน้าที่ตามกติกาการแข่งขัน อวัยวะที่ใช้ในการต่อสู้แข่งขันได้คือ หมัด เท้า เข่า และศอกเข้าชก เตะ ถีบ ทุบ ถอง ตี ฯลฯ ได้ทุกส่วนของร่างกายโดยไม่จำกัดที่ชก
ก่อนการแข่งขันนักมวยทั้งสองจะทำการไหว้ครูและร่ายรำ คือ กราบสามครั้ง เพื่อระลึกถึง บิดา มารดา ครูอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอคุณพระศรีรัตนตรัย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยคุ้มครอง และขอให้ได้ชัยชนะด้วยความปลอดภัยในที่สุดแล้วจึงร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบ ฉบับของครูที่ได้สอนไว้ให้โดยตลอด นักมายทุกคนจะสวม “มงคล” ที่ศรีษะมงคลนี้ทำด้วยด้ายดิบหลายเส้นรวมกันแล้วพันหุ้มด้วยผ้าโตขนาดนิ้วมือทำเป็น รูปบ่วงเพื่อสวมศีรษะ การสวมมงคลไว้ก่อนแข่งขันนี้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งครูอาจารย์ได้ทำพิธีปลุกเสก และให้ความเป็นสิริมงคลไว้แก่ตน ฉะนั้นนักมวยจะสวมมงคลไว้ตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครูและร่ายรำ และจะถอดออกจากศีรษะได้ในเมื่อจะเริ่มการแข่งขัน ในระหว่างการไหว้ครูและร่ายรำนั้นจะมีดนตรีบรรเลงประกอบตามทำนอง ของดนตรีไทยเป็นจังหวะช้า ๆ เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ ปี่ชวา กลองแขก 2 และฉิ่ง 1 เมื่อถอดมงคลแล้วกรรมการผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยทั้งสองมาจับมือกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพร้อมกันนั้นก็จะตักเตือนกติกาสำคัญ ๆ อันเกี่ยวกับการแข่งขันให้นักมวยทั้งสองได้ทราบ ครั้นเมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้วดนตรีบรรเลงในทำนองเร่งเร้าให้นักมวยทั้งสองเกิดความ รู้สึกฮึกเหิมและมุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด การร่ายรำและการต่อสู้โดยมีดนตรีประกอบนั้น นอกจากจะถือว่าเป็นศิลปะแล้ว ยังเป็นประเพณีอันดีงามของ ชาวไทยมาแต่โบราณกาล จนไม่อาจจะทิ้งให้สูญหายไปเสียได้
ปัจจุบัน การแข่งขันมวยไทยเป็นกีฬาอาชีพโดยสิ้นเชิงเฉพาะในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละ 2 รอบก็มี สำหรับการควบคุม มวยอาชีพขึ้นอยู่กับกฎข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ที่มิใช่อาชีพก็มีเพียงการฝึกสอนในสถาบันการพลศึกษาเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อมิให้ศิลปะมวยไทย สูญหายไปและเพื่อรักษาไว้ซึ่งการกีฬาประจำชาติอันเป็นศิลปะในการต่อสู้ชาวต่างประเทศที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็มักจะไม่ยอมพลาด โอกาสที่จะไปชมการแข่งขันมวยไทยจะต้องพยายามเข้าชมการแข่งขันมวยไทย ปรากฏว่าเป็นที่น่าสนใจของชาวต่างประเทศมาก เพราะมวยไทยมีวิธีชกแปลก ที่สุดในโลก และยิ่งกว่านั้นนักมวยไทยยังได้เคยเดินทางไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป มีศิลปะการต่อสู้ของชาติต่าง ๆ ได้ขอเข้ามาต่อสู้กับมวยไทย เช่น ยูโด คาราเต้ เทควันโด มวยสากล มวยปล้ำ มวย Kick Boxing, Martrialart ฯลฯ ซึ่งการต่อสู้แต่ละครั้งมวยไทยจะเป็น ฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่าการต่อสู้แบบมวยไทย เป็นวิธีการต่อสู้ที่มีพิษสงรอบด้าน จึงพากันสนใจเรียนมวยไทยกันมาก อีกทั้งมีคนไทยที่มี ความรู้ด้านมวยไทยเป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นครูสอนมวยไทยมาก่อน หรือบางคนเป็นนักมวยที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมาก่อนไปอาศัยในต่างประเทศ ได้เปิดสอนมวย ไทยในประเทศที่ตนเองไปอาศัยอยู่นั้น ซึ่งได้รับการสนใจเป็นอันมาก ปัจจุบันมวยไทยอาชีพได้เผยแพร่จนเป็นที่รู้จักทั่วกัน จนมีการจัดการแข่งขันมวยไทย ในต่างประเทศบ่อย ๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นการแข่งขันมวยไทยระหว่างนักมวยไทยกับมวยต่างชาติที่ฝึกและนิยมมวยไทย หรือการแข่งขันระหว่างนักมวยไทยด้วยกันเองในต่างแดนจากความสนใจของชาวต่างชาติที่ฝึกมวยไทยนี้เอง จึงมีนักมวยต่างชาติเข้าใจและมีฝีมือ ในการต่อสู้แบบมวยไทยเป็นอย่างดียิ่งขึ้น
คะแนนโหวต ( 1 โหวต )