เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทำให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมาก ธุรกิจประเภทที่ปรับตัวได้จะยังคงอยู่รอดและสามารถเติบโตต่อไป
และหลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า “New Normal” หรือ New Norm ขึ้น ซึ่งก็หมายถึง “ความปกติใหม่” นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวัน และ การขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะออนไลน์
พฤติกรรมของ New Normal ที่อาจเปลี่ยนไป
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทมีการอนุโลมให้ทำงานที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์เข้ามาช่วย หลายสถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนทางออนไลน์ หลายธุรกิจเริ่มหันมาการทำธุรกิจค้าขายทางออนไลน์ กันมากขึ้น ในเวลาเดียวกันการตกงานและว่างงานก็จะเพิ่มขึ้น อาชีพอิสระใหม่ๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ในเส้นทางนี้อาจจะเกิดขึ้นมามากมาย
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักในด้านการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยทั้งของตนเองและของส่วนรวมมากขึ้น เนื่องจากการรักษาสุขภาพตนเองให้ดีอยู่เสมอ การทานอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน จะช่วยป้องกันตนเองจากไวรัสได้ อีกทั้งสถานที่ให้บริการต่างๆ จะมีเจลแอลกอฮอล์รวมถึงมีบรรจุภัณฑ์ถูกสุขอนามัยให้ลูกค้าใช้ การเว้นระยะห่างและช่องชำระสินค้า การช้อปปิ้งแบบใหม่ จุดชำระเงินอัตโนมัติรวมทั้งบริการต่างๆ ที่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงอาจเป็นบริการใหม่ที่อาจตามมาในไม่ช้า
การทำงานหรือทำธุรกิจในปัจจุบัน สามารถทำที่ไหนก็ได้เพียงแค่มีอุปกรณ์สื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย ไม่ติดความจำเจ แต่บางครั้งถ้าไม่ได้ทันระวังหรือติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้จนไม่สนใจคนรอบข้างหรือครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแต่จะเป็น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคออฟฟิศซินโดรม โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
แต่มีบางบริษัทก็ยังคงให้พนักงานมาทำงานตามปกติ ดังนั้น การจัดโต๊ะทำงานและการรักษาความสะอาดในสถานที่ทำงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จากมาตรการ Social Distancing ทำให้หลายคน มักจะหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อสังเกตอาการของตนเอง หรือใช้บริการการดูแลสุขภาพผ่านระบบ Telehealth นั่นคือ การนำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาสนับสนุนการให้บริการทางสุขภาพที่หลากหลาย เช่น
สำหรับในประเทศไทยเองนั้น Telemedicine ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือ การที่แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้ ซึ่งในการให้คำวินิจฉัยหรือคำแนะนำทางการแพทย์นั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ต้องการข้อมูลจากการฟังเสียงปอด ฟังเสียงหัวใจ ดูลำคอ และอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
แต่หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ถูกกล่าวถึง และพยายามเข้ามาอุดช่องโหว่นี้ คือ เครื่องมือในกลุ่ม Handheld Examination Kit เช่น TytoCare ซึ่งเป็น Digital Stethoscope หรือ เครื่องมือที่ใช้ฟังเสียงหัวใจและปอด อีกทั้งยังสามารถส่องดูหู ลำคอ จมูก ผิวหนังและวัดอุณหภูมิร่างกายได้ในเครื่องเดียว ทำให้แพทย์ได้ข้อมูลจากร่างกายคนไข้ โดยไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ซึ่งเครื่องมือนี้ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของทั้งสหรัฐอเมริกาและไทย