และนั่นนำมาซึ่งคำถามที่ว่า "ทำไมคนเชื้อสายแอฟริกันถึงได้วิ่งเร็วกว่าชนชาติอื่นนัก?"
สถิติไม่โกหกใคร
พูดถึงความเร็วกับการวิ่ง รายการแรกที่ทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น "วิ่ง 100 เมตร" อย่างแน่นอน เพราะนี่คือการแข่งขันที่พิสูจน์ถึงความเร็วได้ดีที่สุด จนมีการขนานนามให้ผู้ชนะการแข่งขันในศึกใหญ่อย่าง โอลิมปิก หรือ กรีฑาชิงแชมป์โลกเป็น "ชาย/หญิงที่เร็วที่สุดในโลก" เลยทีเดียว
การบันทึกสถิติโลก ซึ่ง IAAF หรือสหพันธ์กรีฑานานาชาติบันทึกไว้อย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่ปี 1912 เป็นต้นมาระบุว่า เจ้าของสถิติโลกคนแรกคือ แดน ลิปปิงคอตต์ ชาวอเมริกันผิวขาว ซึ่งทำเวลาไว้ที่ 10.6 วินาที และต้องรอถึง 17 ปี กว่าที่จะมีชายเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ทำเวลาเป็นสถิติโลก นั่นคือ เอ็ดดี้ โทแลน ซึ่งทำเวลาไว้ 10.4 วินาทีในปี 1929
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ หลังจาก โฮราซิโอ เอสตาเวส นักวิ่งผิวขาวชาวเวเนซูเอล่า สร้างสถิติโลก 10.0 วินาทีไว้เมื่อปี 1964 นับแต่นั้นมา เจ้าของสถิติโลกวิ่ง 100 เมตรก็กลายเป็นคนเชื้อสายแอฟริกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาว แอฟริกัน-อเมริกัน อย่าง บ็อบ เฮย์ส, คาร์ล ลูอิส และ จัสติน แกตลิน แชมป์โลกคนล่าสุด รวมถึงชาว แอฟโร่-แคริบเบี้ยน หรือชาวแคริบเบี้ยนเชื้อสายแอฟริกันอย่าง เบน จอห์นสัน (เกิดที่ จาไมก้า แต่ถือสัญชาติ แคนาดา), อาซาฟา พาวล์ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ยูเซน โบลท์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย กับสถิติโลกคนปัจจุบัน 9.58 วินาที ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2009
ขณะที่สถิติโลกฝ่ายหญิง แม้ผู้หญิงผิวขาวจากทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะผลัดกันทำลายสถิติเป็นว่าเล่น แต่หลังจากที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ-จอยเนอร์ ทำสถิติ 10.49 วินาทีไว้เมื่อปี 1988 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีใคร สีผิวไหน ที่สามารถทำลายเวลาดังกล่าวได้เลย และแม้ "โฟล-โจ" จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1998 ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงโดดเด่นเหมือนเขาสูงชันที่ยังไม่มีใครหน้าไหนพิชิตได้กระทั่งทุกวันนี้
กล้ามเนื้อแบบแอฟริกัน
สถิติโลกการวิ่ง 100 เมตรทั้งชายและหญิงซึ่งตกเป็นของชายและหญิงเชื้อสายแอฟริกันมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายคนถึงกับยกย่องให้พวกเขาเป็นยอดนักวิ่งตัวจริง เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาความลับของเรื่องราวอันน่าทึ่งนี้
ปี 2012 คณะนักวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ สตีฟ แฮร์ริดจ์ จาก คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ได้ทำการศึกษาจนค้นพบความลับอันน่าทึ่งประการหนึ่ง นั่นคือ คนเชื้อสายแอฟริกันมีกล้ามเนื้อที่เรียกว่า "Fast-twitch" หรือ "กล้ามเนื้อกระตุกเร็ว" มากกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ
ซึ่งกล้ามเนื้อ Fast-twitch นี้เองคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการที่ใครสักคนจะวิ่งได้เร็วหรือไม่ เนื่องจากกล้ามเนื้อแบบนี้สามารถหดตัวได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ช่วยให้พวกเขาสามารถระเบิดฝีเท้าในการวิ่งได้อย่างรวดเร็วกว่า ถึงกระนั้น กล้ามเนื้อดังกล่าวก็ไม่สามารถคงอยู่ในลักษณะนั้นได้นาน จึงทำให้การวิ่งเร็วนั้นทำได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ต่างจากกล้ามเนื้อ "Slow-twitch" หรือ "กล้ามเนื้อกระตุกช้า" ซึ่งจะมีคุณสมบัติตรงข้ามกัน และเป็นปัจจัยสำคัญของเหล่านักวิ่งระยะไกลอย่าง การวิ่งมาราธอน
"การจะเป็นนักวิ่งระยะสั้นที่รวดเร็วได้นั้น ขาของคุณจะต้องมีกล้ามเนื้อ Fast-twitch เสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากกล้ามเนื้อดังกล่าวจะหดตัวเร็วกว่า และสามารถระเบิดพลังในการวิ่งออกมาได้มากกว่า กลับกัน นักวิ่งมาราธอนก็จะมีกล้ามเนื้อ Slow-twitch มากกว่าด้วย" ศ.แฮร์ริดจ์ กล่าว
"กล้ามเนื้อที่มีลักษณะเฉพาะนี้เอง ทำให้คุณไม่สามารถเปลี่ยนนักวิ่งอย่าง พอลล่า แรดคลิฟฟ์ (อดีตนักวิ่งระยะไกลระดับตำนานของสหราชอาณาจักร) ไปเป็นยอดนักวิ่งระยะสั้น เช่นเดียวการที่ไม่สามารถเปลี่ยน ยูเซน โบลท์ ให้เป็นนักวิ่งระยะไกลที่ดีได้ด้วย เนื่องจากร่างกายของพวกเขาไม่ได้ถูกสร้างมาให้เหมือนกันนั่นเอง" ศ.แฮร์ริดจ์ กล่าว
ความลับของศูนย์ถ่วง
กล้ามเนื้อที่พระเจ้าประทานให้ ดูจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนเชื้อสายแอฟริกันนั้นวิ่งเร็วกว่าใครๆ ทว่าความจริงแล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนก็นึกไม่ถึง
เมื่อปี 2010 ทีมวิจัยซึ่งมี เอเดรียน เบยาน แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก และ ดอกเตอร์ เอ็ดเวิร์ด โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด ได้ทำการศึกษากายวิภาคของเหล่าทหารที่มีเชื้อสายแตกต่างกัน และพบความจริงที่น่าสนใจคือ คนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายสูงกว่าคนผิวขาว 3%
อันที่จริง ความแตกต่าง 3% ที่ว่านั้นดูน้อยมากจนแทบไม่อาจสังเกตได้ แต่จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายที่ไม่เท่ากันนี้ส่งผลอย่างไร?
"จุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่า หมายความว่ามีโอกาสครับที่คนเชื้อสายแอฟริกันจะมีแขนขาที่ยาวกว่า ซึ่งต่างจากคนผิวขาวและเชื้อสายเอเชียที่มีช่วงลำตัวยาวกว่า และนั่นหมายถึงพวกเขามีจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่ต่ำกว่าด้วย" เบยานกล่าว
ความยาวของช่วงขานี้เองที่กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนเชื้อสายแอฟริกันสามารถวิ่งได้เร็วกว่า เพราะใน 1 ก้าวนั้น พวกเขาจะสามารถก้าวเท้าไปได้ไกลกว่าใครๆ ซึ่งในการแข่งขันที่ตัดสินกันด้วยเวลาไม่ถึง 10 วินาที นี่คือจุดแตกต่างที่สามารถชี้ขาดการเป็นผู้ชนะได้
ไม่เพียงเท่านั้น เบยานยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า "ในการวิ่งนั้น ขาคืออวัยวะหลักที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ส่วนลำตัวก็เปรียบเสมือนน้ำหนักเพิ่มเติมที่ขาต้องแบกรับไว้ คนที่มีขายาวกว่าและลำตัวเล็กกว่าอย่างคนเชื้อสายแอฟริกันจึงมักเป็นผู้ชนะอยู่เสมอ"
แล้วคนธรรมดาล่ะ?
กล้ามเนื้อและจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย คือความลับเล็กๆ ทางธรรมชาติที่ช่วยให้นักกีฬาเชื้อสายแอฟริกันครองความเป็นหนึ่งในการแข่งวิ่งระยะสั้นอย่างวิ่ง 100 เมตร เห็นได้จากศึกโอลิมปิก ที่ลมกรดชายเชื้อสายแอฟริกันกวาดเหรียญทองมาได้ทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา ขณะที่ในประเภทหญิง 3 ครั้งหลังสุด นักวิ่งจากจาไมก้ากวาดเหรียญทองแบบเรียบวุธ
แต่สำหรับคนธรรมดาล่ะ? คำกล่าวนี้ยังสามารถใช้ได้จริงด้วยรึเปล่า?
เรื่องดังกล่าว แชนแนลยูทูป All Def เองก็มีความสงสัยเช่นกัน พวกเขาจึงทำการทดลองแบบง่ายๆ คือการนำคนหลากเชื้อสาย ทั้งคนเชื้อสายแอฟริกัน, คนผิวขาว, เชื้อสายฮิสแปนิก (กลุ่มชาติพันธุ์สเปน) รวมถึงเชื้อสายเอเชีย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และรุ่นเฮฟวี่เวต มาวิ่งแข่งกัน
แม้การแข่งขันดังกล่าวดูจะไม่ได้จริงจังนัก เพราะมีทั้งการจัมพ์สตาร์ท ออกตัวก่อนสัญญาณกำหนด รวมถึงเส้นทางวิ่งแสนแคบจนต้องมีการเบียดแย่งตำแหน่งกัน แต่ภาพที่ออกมาก็พอจะสะท้อนอะไรได้บ้าง เมื่อผู้ชายและนักวิ่งรุ่นเฮฟวี่เวตเชื้อสายแอฟริกันสามารถคว้าชัยได้ จะมาเสียท่าก็ตรงผู้หญิงที่ถูกนักวิ่งเชื้อสายฮิสแปนิกแซงเข้าเส้นไปก่อน
เหรียญรางวัลในการแข่งขัน หรือแม้แต่การทดลองแบบเอามันอย่างที่เราได้กล่าวไปนั้น คงพอจะเป็นหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนเชื้อสายแอฟริกันคือยอดนักวิ่งอย่างแท้จริง
แต่ถึงกระนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งๆ ที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และแอฟโร่-แคริบเบี้ยน ประสบความสำเร็จมากมาย แต่เหตุไฉนชาวแอฟริกันแท้ๆ ถึงไม่ใคร่จะมีความสำเร็จในแบบเดียวกันเลย ... คำตอบที่เข้าใจง่ายที่สุดก็คงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ว่า แม้ร่างกายจะเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาเหมือนๆ กัน แต่การฝึกซ้อม, โภชนาการ และเรื่องอื่นๆ ที่ได้มาตรฐาน ก็ถือเป็นอีกตัวช่วยสำคัญที่ทำให้นักกีฬาสักคนประสบความสำเร็จ
ซึ่งแน่นอนว่า กีฬาวิ่งเองก็หนีความจริงนี้ไม่พ้นด้วยเช่นกัน