นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสหราชอาณาจักร นำโดย ดร.ปีเตอร์ ฟอสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม เผยว่า การศึกษายีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก พบว่าไวรัสดังกล่าวกลายเป็นเป็น 3 ชนิด
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ นั้นเป็นไวรัสดั้งเดิมที่แพร่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์ ผ่านตัวนิ่ม แต่กลับไม่ใช่ชนิดที่พบทั่วไปในหมู่คนไข้ในประเทศจีน แต่ไวรัสที่ระบาดในจีนมากที่สุดกลับเป็นชนิด บี
ผลวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า ไวรัสชนิด เอ นั้น พบมากในออสเตรเลียและพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ที่มีผู้ป่วยรวมกันแล้วมากกว่า 400,000 คน และถ้าหากนับแค่ในสหรัฐ พบว่า คนไข้กลุ่มตัวอย่างถึง 2 ใน 3 ติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ
ส่วนไวรัสชนิด บี กลายพันธุ์มาจากชนิด เอ และอย่างที่กล่าวไปคือ เป็นไวรัสที่พบแพร่หลายที่สุดในจีน ทั้งยังพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่ในยุโรป อย่างเช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ยังติดไวรัสชนิด บี ด้วย
ขณะเดียวกัน ไวรัสชนิดที่ 3 หรือชนิด ซี กลายพันธุ์มาจากชนิด บี อีกทอดหนึ่ง โดยเป็นไวรัสที่ชนิดที่พบมากที่สุดในคนไข้ชาวอิตาลี เชื่อว่าน่าจะแพร่เข้ามาในประเทศดังกล่าวจากจีน ผ่าน สิงคโปร์
นักวิจัยเชื่อว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้ตัวไวรัสเองต่อสู้กับภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังคงเป็นที่กังขาในหมู่นักวิทยาศาสตร์ร่วมวงการ เนื่องจากใช้ตัวอย่างผู้ป่วยทั่วโลกเพียงแค่ 160 ตัวอย่างเท่านั้น แต่ทีมวิจัยนี้เพิ่มตัวอย่างการศึกษาเป็นมากกว่า 1,000 เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเนขึ้น แต่ก็ยังไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจทานผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก (Peer Review)