โคราช เดินหน้าขนส่งมวลชนผุดรถราง LRT ไร้สายไฟทั้งหมด 7 สาย นำร่องเซฟวัน-บ้านเกาะ คาดเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดภายในปี 62
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดทำโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นการออกแบบและวางแผนระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงการออกแบบระบบการจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต
เส้นทางระบบขนส่งมวลชนเมืองโคราชมีทั้งหมด 7 สาย คือ
1.สายสีเขียวเข้ม (นำร่อง) เริ่มจากตลาดเซฟวัน-แยกปักธงชัย-ปึงหงี่เชียง-อู่เชิดชัย-ถนนสืบสิ-วัดใหม่อัมพวัน-สวนภูมิรักษ์-สวายเรียง-สถานีรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา-5 แยกหัวรถไฟ-เทศบาลนครนครราชสีมา-ตลาดแม่กิมเฮง-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-รร.สุรนารีวิทยา-ม.ราชภัฏนครราชสีมา-มทร.อีสาน-รร.ดุสิตปริ้นเซส ชุมชุนมหาชัย-บ้านนารรีสวัสดิ์ บ้านเกาะ
2.สายสีเขียวอ่อน (ต่อขยายจากเซฟวัน) เริ่มที่ตลาดเซฟวัน-รร.ราชสีมาวิทยาลัย-รร.อุบลรัตนราชกัญญาฯ-วิทยาลัยนครราชสีมา-เจ้าสัว-สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 ห้วยบ้านยาง
3.สายสีเขียวอ่อน (ต่อขยายจากบ้านเกาะ) เริ่มจากสถานีบ้านนารีสวัสดิ์-หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา-ปภ.เขต 5-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์-สำนักงานขนส่งฯ 2
4.สายสีม่วงเข้ม เริ่มที่ตลาดเซฟวัน-แยกปักธงชัย-ปึงหงี่เชียง-อู่เชิดชัย-โรงแรมสีมาธานี-รพ.กรุงเทพราชสีมา-เดอะมอลล์โคราช-เทอร์มินอล 21 โคราช -สถานีขนส่งแห่งที่ 2 บขส.ใหม่-แม็คโค-แยกประโดก-เซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมา-ม.วงษ์ชวลิตกุล-สุรนารายณ์ซอย 13 ข้างไนท์บ้านเกาะ-บ้านนารีสวัสดิ์
5.สายสีม่วงอ่อน (ต่อขยายจากม.วงษ์ชวลิตกุล) ม.วงษ์ชวลิตกุล-รพ.สต.ขนาย-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์
6.สายสีส้มเข้ม เริ่มจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-สถานีขนส่ง 1 บขส.เก่า-เทอร์มินอล 21 โคราช-สถานีขนส่งแห่งที่ 2 บขส.ใหม่-แม็คโคร-แยกประโดก -โรงแรมวีวัน-รพ.มหาราชนครราชสีมา-วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา-ถนนชุมพล-ศาลากลาง-ถนนมหาดไทย-ถนนสรรพสิทธิ์-ถนนพลล้าน-ถนนอัษฏางค์-คลังเก่า-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
7.สายสีส้มอ่อน (ต่อขยายจากถนนสรรพสิทธิ์) แยกถนนสรรพสิทธิ์-สถานีบำบัดน้ำทน.นครราชสีมา-สุสานเม้งยิ้น-เทสโก้โลตัสหัวทะเล-สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5
สำหรับระบบ LRT แบบใหม่ ที่จะนำมาใช้พัฒนาขนส่งมวลชนเมืองโคราช ตัวรถจะใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่ประจุไว้ในตัวรถเอง และทุกๆ การจอดรับผู้โดยสารที่สถานี จะมีการชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเก็บยังตัวรถ ซึ่งข้อดีคือไม่ต้องสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะบดบังทัศนียภาพของเมือง ใช้ระบบประจุไฟฟ้าเข้ามาเก็บยังตัวรถทุกๆ การจอดที่สถานีแทน รองรับการใช้งานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องหยุดรถชาร์จไฟเป็นเวลานาน
ทั้งนี้กระบวนการต่อไปจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านวิศวกรรมและการลงทุน ศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (TOD) และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หลังจากนั้นจะสรุปผลส่งไปยัง สนข. และยื่นเสนออนุมัติงบประมาณกับกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มตอกเข็มการก่อสร้างได้เร็วที่สุดภายในปี 2562
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล http://koratstartup.com