อย่าให้ถึงยก 4 : "บัตเตอร์บีน" นักมวยหนักเกือบ 200 กิโลกรัม

อย่าให้ถึงยก 4 : "บัตเตอร์บีน" นักมวยหนักเกือบ 200 กิโลกรัมผู้ค้นพบว่า "กระบี่อยู่ที่ใจ"
เรื่องบางเรื่องนั้นต่อให้เข้าใจแต่ก็ยากที่จะปฏิบัติตามได้ง่ายๆ เหมือนปากพูด อาทิคำกล่าวที่ว่า "จงภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น" ... เพราะบางครั้งคนเรายิ่งคว้ามาได้เท่าไหร่ก็ยิ่งอยากจะหาเพิ่มอีกจนไม่รู้จักพอ

นี่คือเรื่องราวของ บัตเตอร์บีน นักชกประวัติศาสตร์ของวงการมวยโลกคนหนึ่ง คนที่หนักเกือบ 200 กิโลกรัม แต่ยังสามารถเป็นแชมป์โลกได้ หนำซ้ำยังถูกเชียร์ให้ขึ้นดวลพลังหมัดกับ ไมค์ ไทสัน อีกต่างหาก

ทำไมเขาจึงกลายเป็นมวยโชว์เงินล้าน เขาแบกน้ำหนักขนาดนี้มาเป็นนักมวยได้อย่างไร? อะไรทำให้เขาทะเยอทะยานได้ขนาดนั้น? 

ติดตามเส้นทางชีวิตของ บัตเตอร์บีน ได้ที่นี่

กำเนิด "บัตเตอร์บีน"

"บัตเตอร์บีน" หรือยอดมวยยักษ์ มีชื่อจริงว่า เอริค เอสช์ เขาเป็นเด็กที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก แม่เสียชีวิตตั้งแต่ 8 ขวบ ต้องย้ายเมืองย้ายโรงเรียนบ่อยครั้ง ที่สำคัญคือเขาเป็นเด็กอ้วนที่มักจะโดนเพื่อนร่วมชั้นแกล้งเป็นประจำ ดังนั้นเมื่อโตขึ้นเขาจึงฝันว่าอยากจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง เพื่อตอกกลับทุกการกระทำที่ตนเองเจอในวัยเด็กนั้นเอง  

1

อย่างไรก็ตาม ชีวิตจริงจะให้ตั้งเป้าไปกับการแก้แค้นโดยไม่ทำมาหากินเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แม้ เอสช์ จะพยายามฝึกฝนเรื่องการชกมวยเบื้องต้นอยู่บ้าง แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะทำงานเลี้ยงปากท้องด้วยการทำงานเป็นหนุ่มโรงงานประกอบเครื่องจักร ซึ่งด้วยนิสัยของเขาที่ชอบกิน เขาจึงมีน้ำหนักตัวพุ่งทะลุเกิน 200 กิโลกรัม จนกระทั่งจุดเปลี่ยนมาถึงในช่วงต้นยุค 1990 เพราะเขาถูกเพื่อนร่วมงานให้สมัครเข้าไปชิงแชมป์ศึก Toughman Contest ซึ่งเป็นรายการแข่งขันชกมวยสากลของนักกีฬาสมัครเล่น  

เอสช์ นั้นพยายามจะลงสมัครในรุ่นใหญ่สุดคือ ซูเปอร์เฮฟวี่เวต ในรายการนั้น ทว่ากติกาในการแข่งขันคือผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีน้ำหนักน้อยกว่า 400 ปอนด์ (180 กิโลกรัม) จึงจะลงแข่งขันได้ มันจึงเป็นโอกาสดีที่ เอสช์ ต้องกลับไปซ้อมมวยอย่างหนัก และลดน้ำหนักไปพร้อมๆ กัน 

ช่วงที่เขาเริ่มไดเอ็ท เหล่าเพื่อนร่วมงานต่างรู้สึกแปลกใจมากที่ขากินอย่างเขาสามารถคุมอาหารได้ โดยเมนูหลักของเขาคือไก่และถั่วขาว (Butterbean) ซึ่งตัวของ เอสช์ ปฎิบัติตามโปรแกรมลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด จนกระทั่งน้ำหนักตัวของเขาลดลงมาตามเกณฑ์ 400 ปอนด์ได้สำเร็จ ซึ่งการกินแต่ถั่วขาวกับไก่เป็นหลักจึงทำให้เขาถูกเพื่อนๆ เรียกว่า บัตเตอร์บีน และเขาก็ใช้ฉายาดังกล่าวในการแข่งขันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

รายการดังกล่าวถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของตัว บัตเตอร์บีน เอง เพราะเมื่อได้ฝึกร่างกายแบบจริงจัง เขาพบว่าตัวเองเป็นคนที่มีพลังหมัดหนักเกินคาด สามารถส่งคู่แข่งลงไปกองได้ตั้งแต่ไม่กี่วินาทีหลังระฆังดัง ซึ่งพลังหมัดล้มช้างของเขานี้นี่เองที่ทำให้คว้าแชมป์ Toughman Contest ได้สำเร็จ แถมยังคว้าแชมป์รายการดังกล่าวได้ถึง 5 สมัย ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เขาจะยกระดับตัวเองกลายเป็นนักชกระดับอาชีพในอีก 4 ปีต่อมานั่นเอง

ราชา 4 ยก! 

"ผมซ้อมหนักมากจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะขนาดตัวของผม ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าคนอย่างผมคงไม่ต้องทำอะไรมากแต่ไม่ใช่เลย คุณนึกภาพคนที่หนัก 400 ปอนด์ ที่ต้องพยายามทำตัวเองให้สามารถชกมวยอาชีพได้สิ มันน่าทึ่งขนาดไหน" บัตเตอร์บีน เล่าถึงจุดสำคัญที่ทำให้คนน้ำหนักเยอะอย่างเขาสามารถเป็นนักมวยอาชีพได้ 

2

ในปี 1994 บัตเตอร์บีน ตัดสินใจเทิร์นโปร และเริ่มทำให้โลกสงสัยว่านักชกร่างอ้วนอย่างเขาจะสามารถไปไกลได้แค่ไหนในวงการนี้ ซึ่งจะว่าตรงๆ บัตเตอร์บีน ไม่ได้เซอร์ไพรส์ใครมากมายนักในเรื่องของความเร็วและทักษะมวยเมื่อเทียบกับนักมวยรุ่นยักษ์คนอื่นๆ เพราะเขาเริ่มต้นช้า อีกทั้งยังมีน้ำหนักตัวมากจึงทำให้ไม่คล่องแคล่วว่องไว (ยิ่งมวยอาชีพรุ่นเฮฟวี่เวตสามารถปล่อยน้ำหนักได้ตามสบายด้วย) ทว่าเรื่องพลังหมัดของเขาที่เป็นผลจากการทำงานหนักเสมอ ยังกลายเป็นไพ่เด็ดที่หลายชักเกิดความยอมรับขึ้นมาในใจ อีกทั้งเมื่อบวกกับคาแร็คเตอร์ที่แทบไม่เคยปรากฎในวงการมวยโลก ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของ บัตเตอร์บีน ก็ไปเร็วกว่าที่เจ้าตัวจะคิดไว้เสียอีก

สไตล์ของ บัตเตอร์บีน นั้นไม่มีอะไรมาก ระฆังยกแรกดังขึ้นเขาจะรีบเดินเข้าหาคู่ชกทันทีและเริ่มปล่อยหมัดแบบรัวๆ ชนิดที่ว่าคุณทีผมที ใครร่วงก่อนแพ้ ดังนั้นเขาจึงเป็นนักชกที่ขึ้นชื่อเรื่องการน็อคเอาต์มากที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขามักจะน็อคคู่แข่งได้ไม่เกินยกที่ 4 แถมส่วนใหญ่มักจะจบลงในยกที่ 1 และยกที่ 2 อีกด้วย ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่น่าจะเดาอะไรยากมากมายนัก เพราะปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว ทำให้เขาต้องใช้พลังงานในการขยับและเคลื่อนไหวมากกว่านักมวยคนอื่น ดังนั้นหากเขาปล่อยให้เกมยืดเยื้อ บัตเตอร์บีน จะแพ้ภัยตัวเองเพราะหายใจไม่ทัน   

3

ดังนั้นการชกแต่ละครั้งของ บัตเตอร์บีน ส่วนใหญ่จะจัดเป็นไฟต์พิเศษ ที่จะมีข้อตกลงกันว่าจะชกกันทั้งหมด 4 ยกไม่มีมากเกินไปกว่านี้ ... ซึ่งเมื่อมีกรอบของเวลาเข้ามาช่วย บัตเตอร์บีน จึงเป็นนักมวยที่ใช้ความได้เปรียบของพลังหมัดได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกั๊กอะไรมาก เพราะกรอบของเวลา 8-12 นาที นั้นถือว่าเป็นเวลาที่สภาพร่างกายของเขาพอรับไหว ซึ่งสถิติก็บอกแบบนั้นเพราะส่วนใหญ่เขาจะน็อคคู่แข่งได้ตลอด โดยในช่วง 2 ปีแรก เขาสามารถเอาชนะได้ 15 ไฟต์รวด และได้ฉายาว่าเป็น "ราชามวย 4 ยก" กันเลยทีเดียว

"ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก โดยปกติแล้วนักมวยอาชีพหน้าใหม่ต้องสั่งสมประสบการณ์สัก 10-15 ไฟต์ถึงจะได้ชกถ่ายทอดสดออกทีวี  แต่ของผมน่ะต่อยไฟต์แรกเสร็จก็ได้คิวต่อยถ่ายทอดสดในไฟต์ที่ 2 เลย เรื่องนี้แม้แต่ ไมค์ ไทสัน ก็ทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หากวัดเฉพาะการต่อยแบบมีการถ่ายทอดสดผมว่าผมน่าจะได้ต่อยออกทีวีมากกว่าแชมป์โลกบางคนเสียอีก" บัตเตอร์บีน กล่าว

ความมั่นใจระดับโลก

การถูกเรียกว่าราชามวย 4 ยก ทำให้เขาเกิดความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วยการขยับมาตรฐานการชกขอตัวเองไปเทียบเคียงกับมวยเฮฟวี่เวตดังๆ แห่งยุค 90 's อาทิ เลนน็อกซ์ ลูอิส, ไมค์ ไทสัน หรือแม้กระทั่ง จอร์จ โฟร์แมน ในวัยใกล้ๆ 50 น่าเสียดายที่มวยรุ่นใหญ่ระดับแถวหน้าไม่มีใครรับคำท้าของ บัตเตอร์บีน เลย ดังนั้นคำว่า "ราชามวย 4 ยก" ไม่ได้มีความหมายไปมากกว่า การเป็นมวยโชว์มากกว่ามวยแชมป์ 

4

ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความแปลกของน้ำหนักตัวและความหนักของหมัด ทำให้แต่ละไฟต์ของ บัตเตอร์บีน ได้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ หากใครเป็นคอมวยในช่วงนั้นจะเห็นได้ว่าคู่ของ บัตเตอร์บีน มักจะปรากฎในฐานะมวยรองคู่เอกในการชิงแชมป์โลกเป็นประจำ ซึ่งนัยหนึ่งมันทำให้เขาไม่พอใจเพราะเขาเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นมวยคู่เอกกับเขาได้บ้าง

"ผมเป็นเจ้าของนักมวย 4 ยกที่ค่าตัวแพงที่สุดจนถึงปัจจุบัน ผมได้แชมป์โลกซูเปอร์เฮฟวี่เวตของ IBA และเคยคว้าแชมป์ WBF ที่อังกฤษมาแล้วนะ" บัตเตอร์บีน เชื่อว่าเขานั้นเจ๋งพอตัว แม้สถาบันมวยที่คว้าแชมป์ได้จะไม่ได้ชื่อดังอะไรมากมาย

"นักมวยหลายคนไม่อยากชกกับผมเท่าไหร่ เพราะพวกเขาคิดว่าผมเป็นมวยหมักหนัก ผมเคยเอาชนะ หลุยส์ โมนาโก ด้วยการน็อคเอาต์ในยกแรกมาแล้ว แล้วก็เป็นโมนาโกนี่แหละที่ไปเอาชนะแชมป์รุ่นยักษ์อย่าง เควิน แบ็คไบรด์ ด้วยการน็อคเอาต์ รวมถึง บัสเตอร์ ดักลาส (เคยน็อคเอาต์ ไมค์ ไทสัน) หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยมีคนอยากจะสู้กับผมสักเท่าไหร่" 

5

มวยโชว์อย่าง บัตเตอร์บีน มีความมั่นใจสูงมาก เขาอยากจะไปถึงระดับมวยแม่เหล็กให้ได้ ทว่าทำอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจ แม้ว่สถิติการชกและตัวเลขการน็อคเอาต์รวมถึงกระแสคนดูที่มีต่อเขาจะมากมาย แต่กลับไม่มีใครสนใจอยากขึ้นเวทีพร้อมกับเขา ซึ่งตัวของ บัตเตอร์บีน เคยท้าชกกับ ไมค์ ไทสัน มาแล้ว ก่อน ไทสัน จะส่ายหัวแล้วบอกว่าไฟต์กับ บัตเตอร์บีน จะไม่เกิดขึ้น เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์อะไรกับการเสียเวลาครั้งนี้ 

สิ่งที่ บัตเตอร์บีน พยายามพูดผ่านสื่อมาตลอดคือเขามั่นใจในพลังหมัดของตัวเองเป็นอย่างมาก เขาท้านักชกหัวแถวผ่านการให้สัมภาษณ์เชิงท้าทายคนอื่นๆ เป็นประจำ จนกระทั่งมีคนที่ยอมมาเป็นเครื่องมือวัดก้าวเพื่อพิสูจน์ฝีมือให้กับเขาจนได้ ซี่งนักชกคนนั้นคือ แลร์รี่ โฮล์มส์ ที่เคยผ่านสังเวียนรุ่นเฮฟวี่เวตกับทั้ง ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์, เคน นอร์ตัน และสำคัญที่สุดคือเคยเอาชนะ มูฮัมหมัด อาลี ด้วยการน็อคเอาต์มาแล้วในปี 1980 

อย่างไรก็ตามไฟต์ระหว่าง โฮล์มส์ กับ บัตเตอร์บีน เกิดขึ้นในปี 2002 หรือ 22 ปี หลังจากไฟต์ที่ชนะอาลี นั่นเท่ากับว่า โฮล์มส์ มีอายุถึง 53 ปีแล้ว ดังนั้นหาก บัตเตอร์บีน ไม่สามารถเอาชนะ โฮล์มส์ ในช่วงอายุขนาดนี้ได้ แสดงว่าเขาต้องยอมรับความจริงว่าคุณสมบัติที่เขามี ไม่มากพอที่จะเปลี่ยนจากสถานะมวยโชว์เป็นมวยแชมป์ได้

ไฟต์ตาสว่าง 

ศึกระหว่าง โฮล์มส์ และ บัตเตอร์บีน ถูกจัดขึ้นโดยบ่อนพนันถูกกฎหมายอย่าง "โกลเด้นพาเลซ"  แน่นอนว่าสำหรับสปอนเซอร์แล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าการเรียกคนดูในไฟต์นี้ ซึ่งพวกเขาให้ บัตเตอร์บีน เพนท์คำว่า GoldenPalace.com ไว้บนกลางหลังเพื่อทำให้ชื่อเว็บไซต์นี้ปรากฎต่อหน้าแฟนมวยทั่วโลก แน่นอนว่าทั้งคู่น่าจะได้เงินในไฟต์นี้มากโข แต่เหนือจากเงินแล้ว มันก็เป็นโอกาสดีที่ บัตเตอร์บีน จะได้ชกกับนักมวยแถวหน้าจริงๆ สักที แม้ว่าอายุอานามของ โฮล์มส์ จะไปไกลมากแล้วก็ตาม 

6

ก่อนชกขึ้นเกิดการตกลงกันระหว่างทั้ง 2 ฝั่ง แม้ฝั่ง โฮล์มส์ จะต่ออายุให้ในไฟต์นั้น (โฮล์ม 53 ปี, บัตเตอร์บีน 35 ปี) แต่สิ่งที่ บัตเตอร์บีน ต่อให้ โฮล์มส์ ก็มีเหมือนกัน นั่นคือการเปลี่ยนกฎการชกให้เป็น 10 ยกแทนที่จะเป็นมวย 4 ยกแบบที่เขาถนัด ซึ่งเมื่อหักลบกลบหนี้จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคนดูแล้วก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ 

โฮล์มส์ เป็นมวยเชิง ช่วงยาว สูงถึง 191 เซนติเมตร ช่วงชกยาว 206 เซนติเมตร ขณะที่ บัตเตอร์บีน นั้นสั้นกว่าเยอะ เพราะสูงแค่ 182 เซนติเมตร และช่วงชกอยู่ที่ 198 เซนติเมตรเท่านั้น  

การดวลกันเป็นไปตามที่หลายคนคาด บัตเตอร์บีน เดินเข้าใส่ตั้งแต่วินาทีแรก ขณะที่ โฮล์มส์ วัย 53 ปี ยังไม่ทิ้งเชิงอดีตนักชกแถวหน้า เขาฉลาดพอที่จะไม่แลก แต่ใช้การถอยการโยกหลบเป็นหลัก และที่สำคัญคือช่วงชกที่ยาวกว่าเห็นๆ ทั้งจิ้มทั้งแย็บจนบัตเตอร์บีนออกลูกงงไปไม่เป็นเลยทีเดียว 

"ตอนชกกับ แลร์รี่ โฮล์มส์ นี่ผมบอกตรงๆ เลยว่าเซ็งมากเพราะเขาไม่คิดจะสู้กับผมเลย เขาแค่แย็บๆ แล้วก็ถอย ซึ่งผมไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะชื่อเสียงของเขาก็มีในระดับนึงเลยนะ"

"การวิ่งหนีของเขามันน่าผิดหวัง ผมดูเทปของเขาก่อนขึ้นชกกับผม และเขาไม่ใช่นักมวยประเภทนี้ เขาไม่ใช่นักมวยใจเสาะชกแล้ววิ่งแบบนี้แน่นอน" บัตเตอร์บีน กล่าวอย่างผิดหวัง

7

ในไฟต์นั้น โฮล์มส์ ใช้แท็คติกชกแล้วถอยจนครบ 10 ยก แน่นอนว่านักมวยวัย 35 ปีที่น้ำหนักตัว 180 กิโลกรัมอย่าง บัตเตอร์บีน ไม่มีแรงพอจะไล่กวดได้ครบ 10 ยก ยิ่งเวลาผ่านไปหมัดของ บัตเตอร์บีน ก็เบาลงเรื่อยๆ ตามพละกำลังที่ถดถอย สุดท้าย โฮล์ม ก็ชนะคะแนนแบบม้วนเดียวจบ ซึ่งนั่นทำให้ บัตเตอร์บีน แค้นมาจนทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นไฟต์ที่เขารอคอย แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องมาแพ้คะแนนแบบติดค้างในใจเกินจะรับได้

"ผมขอไม่แสดงความเคารพเขาอีกต่อไปเพราะเขาไม่ได้คิดจะสู้เหมือนกับแชมป์ เขาไม่คิดจะออกมาเอาชนะผมให้สมศักดิ์ศรี เขาแค่มาประคองชกเอาคะแนนเท่านั้นเอง" 

"ในมุมมองของผม ผมคิดว่าถ้าผมจะแพ้ ผมอยากให้เขาเดินมาบวกกัน จากนั้นเขาจะปล่อยหมัดใส่น็อคใส่หน้าผมจังๆ ซักทีก็ได้ เพราะถ้าผมแพ้แบบนั้นผมจะหมดทุกคำถามไม่มีข้อติดค้างอะไรอีกเลย แต่แพ้แบบนี้มันยากจะรับได้จริงๆ"

สุดท้ายก็หาเจอ 

บัตเตอร์บีน อาจจะกล่าวด้วยความไม่พอใจและมีข้ออ้างมากมายหลังการชกกับ โฮล์ม แต่เขาต้องไม่ลืมว่า โฮล์มส์ ในวัย 53 ปีนั้นลดศักยภาพลงมาจากยุคที่กำลังพีกๆ น่าจะเกือบๆ 50% อีกทั้งการชกแล้วถอยก็ไม่ได้ผิดกติกาการชกมวยแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อไฟต์จบลงได้ไม่นานนักไฟในใจก็เริ่มดับลง และตัวของ บัตเตอร์บีน ก็เข้าใจอะไรๆ มากขึ้นกว่าเดิม ... อย่างน้อยๆ เขาก็ได้รู้ระดับของตัวเองอย่างแท้จริงสักที

8

บัตเตอร์บีน ยังคงทำเงินในจากการเป็นมวยโชว์ มวยรองคู่เอกต่อไป นอกจากนี้ยังขยับขยายไปต่อสู้ในกติกาอื่นๆ ทั้ง คิกบ็อกซิ่ง (ในศึก K-1), MMA และมวยปล้ำอาชีพอีกด้วย ซึ่งในศาสตร์อื่นๆ นอกจากมวยสากล แม้เขาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก แต่เขายังเป็นนักสู้ที่ได้ค่าตัวสูงในระดับที่น่าพอใจ ว่ากันว่า 1 ไฟต์ของเขานั้น ค่าตัวแบบไม่ได้รวมรางวัลอื่นๆ นั้นอยู่ที่ราวๆ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว ยืนยันได้ว่านับตั้งแต่ไฟต์แรกจนไฟต์สุดท้าย บัตเตอร์บีน เป็นมวยที่ขายได้เสมอมา

"ผมคิดว่านักสู้หลายคนนะที่ชกเก่งแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้ความบันเทิง ซึ่งมันต่างจากผมโดยสิ้นเชิง พวกเขาต้องบอกตัวเองว่าเรามาสร้างความบันเทิง ไม่ใช่มาเล่นกีฬาอย่างเดียว คุณเห็นวงการมวยสมัครเล่นไหมล่ะ มีคนเก่งๆ หลายคนนะ แต่ไม่มีใครสนับสนุนพวกเขาหรอก เพราะมันน่าเบื่อไม่มีอะไรตื่นเต้นเลย ชกกันทีเหมือนกับให้คุณนั่งดูการเจริญเติบโตของต้นหญ้าชัดๆ" 

หากจะถามว่านั่นมากเท่ากับที่เขาหวังในการเป็นนักมวยแถวหน้าไหม? คำตอบก็คือไม่ แต่ถามว่าเขาควรจะผิดหวังกับตัวเลขค่าตัวและสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาชีพนักสู้ของเขาหรือเปล่า บัตเตอร์บีน ยืนยันด้วยตัวเองว่า "ไม่มีอะไรต้องเสียใจ"

เมื่อเขามองย้อนกลับไกลกว่านั้น เมื่อตัวเองยังเป็นเด็กอ้วนที่โดนกลั่นแกล้ง ไร้ความมั่นใจในการใช้ชีวิต เขาก็ได้รู้ว่าตนเองเดินทางจากจุดนั้นมาได้ไกลขนาดไหน แม้ไม่ได้เป็นแชมป์โลกเจ้าของเข็มขัดเส้นใหญ่ๆ แต่สุดท้ายชื่อของ บัตเตอร์บีน ก็ยังเป็นขวัญใจแฟนมวยอยู่ดี แม้จะเป็นมวยโชว์แต่ทุกคนก็ยังอยากจะดูเขาไล่ถลุงคู่แข่งให้สมฉายาราชามวย 4 ยกอยู่ดี แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเกียรติที่เขาภูมิใจเป็นที่สุดแล้ว

9

"ผมไม่คิดจะกลับไปแก้อะไร ผมทำเงินได้มากมายและสนุกกับมัน ผมเคยสู้มากกว่า 100 ไฟต์ในฐานะนักมวยอาชีพ และอีก 75 ไฟต์ในแบบมวยสมัครเล่น ผมก็คิดว่าผมสู้มาเยอะ ผมคิดว่าชีวิตผมยอดเยี่ยมไปเลยนะ ... นอกจากต้องผ่าตัดที่แขนแล้ว ทุกอย่างก็ดีเลยทีเดียว" 

"ก่อนนั้นผมเป็นไอ้พวกขี้แพ้ มองไปทางไหนก็คิดว่าตัวเองทำอะไรเหมือนชาวบ้านเขาไม่ได้ ได้แต่น้อยใจว่าตัวเองเป็นเด็กอ้วนที่ไร้ค่าในสายตาคนอื่นๆ แต่สุดท้ายผมก็สู้ในแบบของตัวเองจนทำให้พวกเขารู้ว่ากำลังคิดผิด อย่างน้อยการกำเนิดของบัตเตอร์บีนก็ช่วยให้แฟนๆ ของผมหลายคนมีทัศนคติที่ดีขึ้น พวกเขามักจะพูดว่า 'ขนาดบัตเตอร์บีนยังทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้เหมือนกัน'" บัตเตอร์บีน กล่าว

"ในอเมริกา คุณมักจะได้ยินคำว่าเรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่เราต้องการ ซึ่งนั่นคือความจริงคุณอยากทำอะไรคุณจงทำมันให้เต็มที่ ไม่ใช่เฉพาะที่อเมริกาเท่านั้น ที่ไหนๆ ในโลกคุณก็สามารถเป็นในสิ่งที่คุณอย่างเป็นได้ถ้าคุณทุ่มเทมากพอ"

แม้จะวิ่งตามหาการยอมรับแทบตาย แต่สุดท้าย บัตเตอร์บีน ก็ได้พบว่าความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายเมื่อเขาได้ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น มองโลกในแง่ดี เรื่องบางเรื่องแค่สลับหัวท้ายผลลัพธ์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ... บางคนบอกว่าเขาเป็นได้แค่มวยโชว์ แต่สุดท้ายแล้วมวยโชว์คนนี้ก็ต่อยมาเกือบ 200 ไฟต์ ไปทุกแทบทุกวงการต่อสู้ มีงานแสดงในวงการบันเทิง มีอาชีพรองรับเมื่อเลิกชก มีความมั่นคงให้ชีวิตแบบที่ใครก็ต้องอิจฉา   นี่แหละหนาที่เขาเรียกว่ากระบี่อยู่ทีใจ

2020-07-28 10:32:03
1061

มวยดังในอดีต

มวยดังในอดีต ตำนานมวยไทย อดีตนักมวยชื่อดัง ตามหานักมวยชื่อดังในอดีต | ดีเด็ดมวยไทย

กีฬารอบโลก

กีฬารอบโลก นานากีฬา ข่าวเด็ดๆ คัดเน้นๆ เพื่อให้แฟน ทีเด็ดมวยไทย ได้ดูเน้นๆ กีฬาดังๆ ฮ็อตฮิตทั่วโลก

ดาวรุ่งภูธร

ดาวรุ่งภูธร มวยดาวรุ่ง มวยหน้าใหม่จากภูธร มวยบ้านนอก ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย

ขวัญใจแฟนมวย

ขวัญใจแฟนมวย นักมวยขวัญใจแฟนมวย นักมวยหน้าหยก พระเอกมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย