วันนี้ (12 พ.ค.) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันรู้รักสามัคคี” เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสามัคคี รู้จักหน้าที่ และส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติ
ทั้งนี้ แนวคิดการกำหนดวันรู้รักสามัคคีปรากฏขึ้นครั้งแรกในกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 โดยคำว่า “รู้ รัก สามัคคี” มีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย
รู้ คือ การลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อนรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้วิธีการแก้ปัญหา
รัก คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนด้วยกระบวนความแล้วจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานด้วยความเต็มใจ
และสามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงถึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจ เป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ประกอบกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ ดังนั้น การกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี ก็จะสามารถลำดับและดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องให้ตระหนักถึงความสามัคคีนำไปสู่ความเป็นชาติ
ดังนั้น การกำหนดให้มีวันรู้รักสามัคคี ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกและสืบสานพระราชปณิธานของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยประชาชน และแสดงถึงการมีจิตใจเสียสละร่วมกันดำเนินการด้วยความรัก ความสามัคคี
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการกำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวัน “รู้รักสามัคคี” ว่า เดิมจะใช้วันที่ 2 กรกฎาคม ที่มูลนิธิส่งเสริมเอกลักษณ์เสนอมาเมื่อปี 2561 กรณีพบหมูป่าเยาวชนอคาเดมี่ แต่ไม่ได้มีข้อสรุป
ทั้งนี้ มาพบว่าประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากคนไทยรู้จักคำว่า “รู้รักสามัคคี” ครั้งแรกในชีวิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 หลังจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสทรงรับสั่ง “ว่าไม่ได้ อีกหน่อยอาจจะมีวันรู้รักสามัคคีเกิดขึ้น คิดว่าถ้าไม่มีตอนนี้อีกกี่ปีก็สามารถจะรอได้” ดังนั้นวันนี้เมื่อคิดจะมีวันรู้รักสามัคคีจึงใช้วันดังกล่าว แต่ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงที่ประชุม ศบค. วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน ส่วนทางสำนักงาน ก.พ. ได้รายงานการจัดเวลาการทำงานเหลื่อมเวลาของข้าราชการเป็น 2 เวลา คือ 7:00 น. และ 8:00 น. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งเพิ่มเติมให้มีการเหลื่อมเวลามากกว่านี้ เช่น ให้ไปเลิกในช่วงค่ำจะได้ไม่มีการแออัดกันบนรถไฟฟ้า
ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งในประเทศไทยมีการเหลื่อมเวลา 7 เวลา ตั้งแต่เวลา 7:00-10:00 น. ซึ่งถือว่าดีอยู่แล้ว โดยมีการทำงานที่บ้านมากกว่า 80% ของคน ถือว่ามากอยู่ มีที่ไม่สามารถทำได้คือรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ทำต่อไป พร้อมให้ผู้บังคับบัญชากวดขันให้อย่าลักไก่ ซึ่งให้ใช้แนวนี้เป็นหลักสำหรับ New Normal
ทั้งนี้ การทำงานที่บ้านของเอกชนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเราไม่มีมาตรการบังคับ ซึ่งบางแห่งก็หยุดการทำงานที่บ้านไปแล้ว หลังจากนี้จะต้องรณรงค์ผ่านกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง หามาตรการจูงใจ เช่น บริษัทใดต้องการ Soft Loan หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ก็อาจจะรับเงื่อนไขนี้ไป