ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามแสวงหาวิธีการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจากมนุษย์สู่มนุษย์ แต่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงกลับเตือนว่า ขณะนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยว่าเชื้อโรค COVID-19 สามารถแพร่กระจายในน้ำเสียได้อย่างไร
หลังจากการเก็บตัวอย่างน้ำเสียจาก 5 แหล่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปรากฏว่ามีรูปแบบของความเข้มข้นของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบาดในผู้ป่วย ซึ่งนักวิจัยเสนอว่า การวิเคราะห์น้ำเสียจะช่วยสร้างระบบเตือนภัยการระบาดล่วงหน้าได้
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบังกอร์กล่าวว่า การวิเคราะห์น้ำเสียจะช่วยในการคาดการณ์การระบาดครั้งที่สองในสหราชอาณาจักรล่วงหน้าได้ถึง 2 สัปดาห์ ก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการ
ล่าสุด ศาสตราจารย์ริชาร์ด ควิลเลียม จากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง กล่าวเตือนในงานวิจัยของ Environment International ว่าระบบระบายน้ำเสียก็มีความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสเช่นกัน เนื่องจากมีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในอุจจาระของมนุษย์ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่นานถึง 33 วัน หลังจากที่ผลตรวจอาการทางเดินหายใจของผู้ป่วย COVID-19 เป็นลบ
“เรายังไม่ทราบว่าไวรัสสามารถติดต่อผ่านเส้นทางการติดต่อผ่านอุจจาระที่ปนเปื้อนเข้าสู่ปากได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสที่ออกมาจากระบบทางเดินอาหารจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ ดังนั้น ช่องทางนี้ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการแพร่เชื้อ แม้จะยังไม่มีการระบุตัวเลขที่แน่ชัดก็ตาม” ศาสตราจารย์ควิลเลียมกล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ควิลเลียมและเพื่อนร่วมงานในคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง ยังเรียกร้องให้มี “การลงทุนด้านทรัพยากร” เพื่อศึกษาถึงประเด็นนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่สำคัญผ่านทางระบบระบายน้ำเสีย จากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและอาศัยอยู่ที่บ้าน และการที่ไม่สามารถตรวจสอบประเด็นนี้ได้ จะทำให้การคาดการณ์ระดับของการแพร่ระบาดทำได้ยากขึ้น
การค้นพบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ในหลายพื้นที่ของโลกที่มีพื้นที่ขับถ่ายแบบเปิดเป็นจำนวนมากและไม่ได้มีระบบสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยอาจจะมีความเสี่ยงที่มากกว่าเดิม