ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อจากละอองในอากาศนั้นมีน้อยมาก โดยยกตัวอย่างเคสผู้ติดเชื้อกว่า 75,000 รายในประเทศจีนซึ่งไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านทางอากาศ ทว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่าการติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์จะผลิตละอองฝอย 2 ชนิดเมื่อหายใจ ไอ หรือพูดคุย โดยละอองฝอยขนาดใหญ่จะหล่นลงสู่พื้นก่อนที่จะระเหยไป ซึ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคผ่านวัตถุสิ่งของที่ละอองฝอยตกลงไป ในขณะที่ละอองฝอยขนาดเล็ก (aerosol) จะก่อให้เกิดละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กซึ่งจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง
การศึกษาของ Ke Lan นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น โดยใช้ที่ดักจับละอองขนาดเล็ก “aerosol traps” ในโรงพยาบาล ค้นพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาจะลอยอยู่ในอากาศบริเวณพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น หรือในห้องที่ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น บริเวณรักษาผู้ป่วย ร้านสะดวกซื้อ และตึกพักผู้ป่วย พร้อมกันนี้ นักวิจัยยังพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสลอยอยู่ในอากาศในห้องน้ำของโรงพยาบาล บริเวณที่มีผู้คนเดินผ่านไปมาอย่างคับคั่ง รวมถึงห้องเก็บอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งมีละอองขนาดเล็กลอยอยู่ในอากาศปริมาณมาก โดยมาจากอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ และชุดที่ใช้แล้ว
สุดท้าย การศึกษาชี้ว่า ควรให้ความสำคัญกับการระบายอากาศ จำกัดจำนวนผู้คนที่จะเข้ามาอยู่รวมกัน และต้องทำความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอย่างระมัดระวัง