สภาพัฒน์ เผยปีนี้เสี่ยงมีคนตกงานประมาณ 8.4 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขว่างงานจะอยู่ที่ไม่เกิน 2 ล้านคน ผลกระทบหลักมาจากการระบาดของโรคโควิด-19
วันนี้ (28 พ.ค.) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาสที่ 1/2563 โดยระบุว่า ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานในไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.92 ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 มีความเสี่ยงอาจทำให้คนตกงานอยู่ที่ 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
(1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน
(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสำหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ
(3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถำนที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
ขณะที่ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ทำให้มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คิดเป็นจำนวน 13.47 ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.8 ต่อจีดีพี โดยในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL อยู่ที่ร้อยละ 3.23 คิดเป็นวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทต่อสินเชื่อรวม