เมือวันที่ 23 พ.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยถึงกรณีที่มีประกาศลงราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2562 ว่า ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีการเขียนกฎหมายเปิดกว้างให้สำนักงานสลากดำเนินการออกสลากในรูปแบบใหม่ๆ ได้เหมือน พ.ร.บ.ฉบับเดิม ทั้งให้สามารถออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว หรือ สลากออนไลน์ หรือ สลากผ่านคอมพิวเตอร์ได้ แต่จะมีรายละเอียดเรื่องรางวัลที่ 1 ในกรณีที่มีการออกสลากลอตโต
โดยในกฎหมายใหม่จะกำหนดให้ทบเงินรางวัลที่ 1 ได้ไม่เกิน 1 งวด หากยังไม่มีผู้ถูกรางวัล เงินจะถูกส่งเข้าคลังทันที ซึ่งจะต่างจากสลากลอตโตของต่างประเทศ ที่จะทบเงินรางวัลไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีผู้ถูกรางวัล
ทั้งนี้ คณะกรรมการสลากฯ ได้มีการศึกษาเรื่องการออกสลากรูปแบบใหม่และเงินรางวัลต่างๆ ไว้หมดแล้ว เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบันอยู่ให้ได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสลากชุดปัจจุบันแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงจะหมดวาระหลังจาก คสช.หยุดปฏิบัติหน้าที่ภายใน 60 วัน ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้ จึงจะไม่พิจารณาดำเนินการออกสลากรูปแบบใหม่เพิ่มเติมในขณะนี้อย่างแน่นอน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดปัจจุบัน ได้ศึกษาแนวทางการออกสลากรูปแบบใหม่ รวมถึงเงินรางวัลที่เหมาะสมในแต่ละแนวทางไว้ให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่จะมีขึ้นพิจารณาแล้ว ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ก่อนที่จะทำสลากรูปแบบใหม่ จะต้องทำประชาพิจารณ์และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อน ซึ่งในกฎหมายใหม่ ประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากฯคนใหม่ จะต้องเป็นปลัดกระทรวงการคลัง
พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การออกผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะสลากล็อตโต ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารูปแบบการออก จำนวนรางวัล จำนวนงวด และเงินรางวัลที่จะจ่ายให้กับผู้ถูกรางวัล
โดยในกฎหมายใหม่กำหนดให้สมทบเงินรางวัลได้ไม่เกิน 1 งวด หมายถึง กรณีการออกรางวัลงวดวันที่ 1 ไม่มีผู้ถูกรางวัลแจ็คพ็อต หรือรางวัลอื่น ๆ ก็จะนำเงินรางวัลในงวดดังกล่าวไปสมทบในการออกรางวัลงวดวันที่ 16 และถ้าในงวดวันที่ 16 ยังไม่มีผู้ถูกรางวัลแจ็คพ็อต ก็จะนำเงินรางวัลของวันที่ 1 ก่อนหน้านี้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
โดยจะสมทบในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งต่างจากการจ่ายรางวัลแจ็คพ็อตของต่างประเทศที่จะมีการสมทบต่อไปเรื่อย ๆ ทุกงวด
ทั้งนี้ ในส่วนของการจ่ายเงินรางวัลแจ็คพ็อตจะต้องเป็นไปตามกฎหมายสลากฯ ฉบับใหม่ คือ 60% เป็นการจ่ายเงินรางวัล 23% เป็นรายได้รัฐ และอีก 17% รางวัลเป็นค่าบริหารจัดการ โดยเงินรางวัลแจ็คพ็อตจะผันแปรไปตามจำนวนผู้ซื้อในแต่ละงวด เช่น ในงวดวันที่ 1 มีรายได้จากการขายล็อตโตรวม 100 ล้านบาท ก็จะแบ่งไปจ่ายเป็นเงินรางวัล 60 ล้านบาท
ซึ่งรางวัลแจ็คพ็อตจะกำหนดเป็นสัดส่วนอยู่ในวงเงิน 60 ล้านบาทดังกล่าว แต่ข้อมูลจากการขายหวยบนดินในรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา พบว่า ได้รับความนิยมมาก มียอดขายต่องวดสูงสุดถึง 3 พันล้านบาท ถ้ามีประชาชนสนใจซื้อล็อตโตในระดับดังกล่าวสูงสุด 3 พันล้านบาทต่องวด ก็จะเป็นเงินรางวัลที่จะจ่ายให้ผู้ถูกรางวัลตามกฎหมาย ประมาณ 1.8 พันล้านบาท และทำให้ต้องมีการแบ่งรางวัลแจ็คพ็อตสำหรับรางวัลที่ 1 ในประมาณหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป
“ขณะนี้กองสลากฯ อยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนการจ่ายเงินรางวัลให้สลากล็อตโต ว่าเท่าใดควรจะมีความเหมาะสม โดยในหลักการสลากฯ แบบล็อตโต อาจจะมีผู้ถูกรางวัลใหญ่แจ็คพ็อตเพียง 1 คนก็ได้ หรือมากกว่า 10 คนก็ได้ ถ้ามีการซื้อเลขเดียวกันแล้วถูกหลายคนก็จะนำเงินรางวัลมาหารกัน ซึ่งต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาลในปัจจุบัน ที่มีการกำหนดเงินรางวัลตายตัว โดยรางวัลที่ 1 จะได้ 6 ล้านบาท” พ.ต.อ. บุญส่ง กล่าว
พ.ต.อ. บุญส่ง กล่าวอีกว่า การออกสลากล็อตโต จะต้องมีการเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ ก่อนที่จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะต่อไป
นอกจากนี้ กฎหมายสลากฉบับใหม่ มีผลให้ตั้งแต่งวด 1 มิ.ย.2562 ต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ 23% โดยยกเลิกเงินส่งกองทุน 3%แล้ว และเพิ่มโทษสำหรับผู้ขายสลากเกินราคา ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท โทษสำหรับผู้ขายสลากในสถานศึกษา ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และโทษสำหรับผู้ขายสลากให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 บริบูรณ์ ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th